"ช้อปดีมีคืน 2566" ถาม-ตอบ 35 ข้อ รวมทุกข้อสงสัย ลดหย่อนปีไหน ซื้ออะไรได้บ้าง

"ช้อปดีมีคืน 2566" ถาม-ตอบ 35 ข้อ รวมทุกข้อสงสัย ลดหย่อนปีไหน ซื้ออะไรได้บ้าง

"ช้อปดีมีคืน 2566" ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวมข้อมูล ถาม-ตอบ (Q&A) จาก กระทรวงการคลัง ทั้งหมด 35 ข้อ รวมมาให้ทุกข้อสงสัย ว่าปีนี้มีอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง และใครที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด

มาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2566" ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวมข้อมูล ถาม-ตอบ (Q&A) จาก กรมสรรพากร ทั้งหมด 35 ข้อ รวมมาให้ทุกข้อสงสัย ว่าปีนี้มีอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง และใครที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจากมาตรการนี้

ช้อปดีมีคืน 2566 ของขวัญปีใหม่ 2566 หลังจากที่ ครม.ไฟเขียวอนุมัติโครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงวงเงินสูงสุดคนละ 40,000 บาท

1.มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566” เป็นการให้สิทธิประโยชน์อะไร

- ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท

2. ผู้ใช้สิทธิประโยชน์ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566” คือใคร

- บุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

3. การให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขอย่างไร

1) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น

1.1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษหรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร และ

1.2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท จากส่วนที่เกิน 1.1) จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น

ทั้งนี้ e-Tax Invoice ในที่นี้หมายความรวมถึง e-Tax Invoice by Email ด้วย และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2) หลักเกณฑ์

2.1) ค่าสินค้าหรือค่าบริการไม่รวมถึง

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
  • ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม 
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 1) เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

2.2) ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

  • ค่าซื้อหนังสือ
  • ค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท ต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบกระดาษหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ส่วนจำนวนไม่เกิน 10,000 บาท ตาม 1.2) ต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น

3) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด เช่น วิธีการใช้สิทธิโดยทั่วไป วิธีการใช้สิทธิของสามีและภริยา ข้อห้ามการใช้สิทธิของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หลักฐานประกอบการใช้สิทธิ เป็นต้น

4. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการใดบ้างที่สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้

1) ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ยกเว้นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
  • ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566) เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

2) ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

  • ค่าซื้อหนังสือ
  • ค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

5.ค่าซื้ออาหารในโรงแรมสามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ได้ หากโรงแรมเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

6.ค่าซ่อมรถสามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ได้ หากร้านเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

7.น้ำมันชนิดใดที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้

- น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

8.กรณีซื้อทองรูปพรรณสามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม)

9.ค่าซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศสามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ เนื่องจากการค่าบริการนั้นไม่รวมถึงค่าบริการจัดนำเที่ยว

10.กรณีจ่ายค่าที่พักโรงแรมหรือจ่ายค่าบริการนำเที่ยวระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ เนื่องจากการค่าบริการนั้นไม่รวมถึงค่าที่พักโรงแรมและค่าบริการจัดนำเที่ยว

11.ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้

12.กรณีมีสัญญาใช้บริการระยะยาวที่มีระยะเวลาสัญญาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีส่วนที่ชำระและใช้บริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถนำค่าบริการเฉพาะส่วนที่ใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ เนื่องจากเป็นค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566

13.กรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ได้ใช้บริการหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 จะสามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ เนื่องจากต้องชำระค่าบริการและใช้บริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น

14.ค่าซื้อประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ หรือประกันรถยนต์สามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้

1.1) ค่าซื้อประกันชีวิต ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ เนื่องจากเป็นบริการที่ไม่อยู่บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอให้พิจารณาใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อเบี้ยประกันชีวิตตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 47 (1) (ง)) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 พ.ศ. 2509 ข้อ 2 (61) ไม่เกินจำนวน 100,000 บาทแทน

1.2) ค่าซื้อประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ และประกันรถยนต์ ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้

15.การซื้อทองคำแท่งสามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ เนื่องจากทองคำแท่งเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ

16.ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าทำศัลยกรรมสามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ เนื่องจากการให้บริการของสถานพยาบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ

17.ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการสามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ เนื่องจากการขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ แต่หากนำบัตรเพื่อแลกรับบริการไปแลกรับบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งคำนวณเป็นจำนวนเงินและออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ

18.คำตอบ ค่าซื้อบัตรของขวัญของห้างสรรพสินค้า (Gift voucher) ค่าซื้อบัตรของขวัญ (Voucher) สำหรับค่าซื้ออาหารของโรงแรม หรือบัตรเติมเงินค่าโทรศัพท์สามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ เนื่องจากการขายบัตรของขวัญ/บัตรเติมเงินไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรของขวัญ/เติมเงินไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ แต่หากนำบัตรของขวัญ/บัตรเติมเงินไปแลกซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งคำนวณเป็นจำนวนเงินและออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ

19.ต้องใช้หลักฐานใดในการใช้สิทธิหักลดหย่อน

- หลักฐานที่ใช้ คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร (ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ) เว้นแต่สินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้ที่ซื้อมาจากผู้ประกอบการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องมีหลักฐานใบรับซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรพร้อมระบุชื่อและนามสกุลของผู้มีเงินได้

  • หนังสือ
  • หนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  • สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- "ช้อปดีมีคืน 2566" เติมน้ำมันได้สิทธิลดหย่อนภาษี แม้ใช้รถคนอื่น เช็กเลย

- “ช้อปดีมีคืน 2566” เริ่มแล้ว! ลดหย่อนภาษี ซื้อสินค้า OTOP ได้ด้วย

- "ช้อปดีมีคืน 2566" เปิดสูตรคำนวณลดหย่อนภาษี ได้เงินคืนเท่าไหร่ ใครคุ้มสุด

 

20.ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรที่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิหักลดหย่อนหมายถึงอะไร

- ใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ

21.ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขสามารถนำมาเป็นหลักฐานได้หรือไม่

- หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะมีการเขียนชื่อหรือที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้

22.ผู้ซื้อมีที่อยู่ตามบัตรประชาชนกับที่อยู่ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแตกต่างกันให้ใช้ที่อยู่ใด

- จะใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันก็ได้

23.กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการหลายครั้ง (มีใบกำกับภาษีหลายใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 จะสามารถนำมูลค่าการซื้อสินค้าหรือการรับบริการแต่ละครั้งมารวมกันเพื่อใช้สิทธิได้หรือไม่

- การซื้อสินค้าหรือการรับบริการในแต่ละครั้งหากมีมูลค่าไม่ถึงที่กำหนดในแต่ละกรณี สามารถนำหลายครั้งมารวมกันได้

24.กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการครั้งเดียว (มีใบกำกับภาษี 1 ใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมูลค่าการซื้อสินค้าหรือการรับบริการนั้นสูงกว่า 40,000 บาท สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้หรือไม่

- สามารถใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ เฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการส่วนที่ไม่เกิน 40,000 บาท

25.ใบกำกับภาษีมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหลายคนสามารถหักลดหย่อนได้หรือไม่

- ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเพียงคนเดียว

26.กรณีใบกำกับภาษีมีทั้งรายการสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะหักลดหย่อนอย่างไร

- สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าซื้อสินค้าและค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่สินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ แม้จ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • หนังสือ
  • หนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  • สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

27.ใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรที่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิหักลดหย่อนหมายถึงอะไร

- ใบรับที่มีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิแห่งประมวลรัษฎากรดังต่อไปนี้ พร้อมชื่อและนามสกุลของผู้มีเงินได้

  • เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
  • ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
  • เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
  • วันเดือนปีที่ออกใบรับ
  • จำนวนเงินที่รับ
  • ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้าในกรณีการขายสินค้าที่มีราคาตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป

28.สามารถขอรับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice หรือใบรับในรูปแบบ e-Receipt ได้อย่างไร

- ประชาชนสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ต่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากร

29.ผู้ขอรับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice หรือใบรับในรูปแบบ e-Receipt จะได้รับเป็นอย่างไร

- โดยทั่วไปผู้ประกอบการจะจัดส่งไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้ทางอีเมล

30.ผู้ขอรับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice หรือใบรับในรูปแบบ e-Receipt สามารถขอให้ผู้ประกอบการจัดพิมพ์ในรูปแบบกระดาษด้วยได้หรือไม่

- ได้ แต่ไม่ต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากร

31.สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วม e-Tax Invoice และ e-Receipt ได้ที่ใด

- สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

32.ผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าร่วม e-Tax Invoice และ e-Receipt ได้อย่างไร

  • ผู้ประกอบการทั่วไป สามารถสมัคร e-Tax Invoice และ e-Receipt ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือที่ https://etax.rd.go.th (คลิก)
  • ในกรณีผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปีและต้องการสมัคร e-Tax Invoice by Email สามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

33.กรณีได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice หรือใบรับในรูปแบบ e-Receipt จะใช้หลักฐานใดในการใช้สิทธิ

ผู้ประกอบการจะนำส่งข้อมูล e-Tax Invoice และ e-Receipt ให้แก่กรมสรรพากร และกรมสรรพากร  จะนำข้อมูลดังกล่าวของผู้มีเงินได้แต่ละคนขึ้นบน My Tax Account ซึ่งเข้าถึงได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากร โดยผู้มีเงินได้สามารถตรวจสอบข้อมูลและนำไปใช้ในการกรอกแบบแสดงรายการภาษีตามสิทธิหักลดหย่อนที่ได้รับ โดยไม่ต้องนำส่งหลักฐานให้แก่กรมสรรพากรอีก

34.ผู้ประกอบการได้ประโยชน์อย่างไรจากการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice และการออกใบรับในรูปแบบ e-Receipt

- มีต้นทุนการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง เพราะ e-Tax Invoice และ e-Receipt มีต้นทุนต่ำกว่าแบบกระดาษและกรมสรรพากรยังให้หักรายจ่ายการลงทุนและค่าใช้บริการระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt ได้ 2 เท่าตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 718) พ.ศ. 2564

35.ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรจากการรับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice และการรับใบรับในรูปแบบ e-Receipt

- ไม่ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับและนำส่งให้แก่กรมสรรพากร โดยสามารถใช้ข้อมูล e-Tax Invoice และ e-Receipt ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี (กรมสรรพากรจะนำขึ้นบน My Tax Account) และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะไม่ขอให้ส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับอีก   ซึ่งส่งผลให้การพิจารณาคืนภาษีสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว