"ปลิงทะเล" สัตว์เศรษฐกิจราคาดี เลี้ยงขายป้อนตลาดจีน ไต้หวัน ฮ่องกง
"ปลิงทะเล" สัตว์เศรษฐกิจราคาดี เลี้ยงขายป้อนตลาดจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ด้าน ศูนย์วิจัยฯประมงทะเลสตูล เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หลังพบมีจำนวนลดน้อยลง
หลายคนเชื่อว่าการรับประทาน "ปลิงทะเล" จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นยาอายุวัฒนะ โดยปลิงทะเลได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน ไต้หวัน และฮ่องกง และแม้แต่มาเลเซียก็นิยมนำปลิงทะเลไปปรุงเป็นยารักษาแผลสด
จากความต้องการของตลาดส่งผลให้ปริมาณปลิงทะเลในประเทศเริ่มลดน้อยลง จึงเป็นที่มาของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล ที่ได้มีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลิงทะเล 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลิงขาว (เพื่องานวิจัย) ปลิงดำ, ปลิงกาหมาด (เพื่อขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติ) มานานกว่า 5 ปี
โดยเฉพาะ "ปลิงกาหมาด" ที่เน้นการเพาะขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากเป็นปลิงที่คนนิยมนำไปบริโภคในการทำยารักษาโรคกันเป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละปีจะมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติครั้งละ 1,000 ตัว
น.ส.จิรนันท์ สุวรรณรัตน์ นักวิชาการประมง สำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล เปิดเผยว่า ที่เน้นอนุรักษ์มากที่สุดคือ "ปลิงกาหมาด" เราพยายามอนุรักษ์เพาะพันธุ์ให้มากที่สุดเพื่อต้องการเอาไปปล่อยกลับคืนธรรมชาติเหมือนเดิมเพื่ออนุรักษ์ เพราะปลิงเหล่านี้ถูกจับมาเป็นจำนวนมาก
โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูลไม่มีนโยบายในการขายพ่อแม่พันธุ์ปลิงทะเล แต่ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงปลิงทะเลสามารถมาติดต่อศึกษาหาความรู้มาดูงานได้ เนื่องจากพบว่าตลาดของปลิงทะเลยังเป็นที่ต้องการของตลาดวงกว้างในประเทศของจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเลเซีย ในราคาซื้อขายส่วนใหญ่พบว่ามีการซื้อขายตัวสด ขนาด 80-100 กรัม ราคาตัวละ 100 บาท
สำหรับในประเทศไทยพบการทำประมงปลิงทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกมาเป็นเวลานานแล้ว จากสถิติการประมงแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 - 2532 พบว่ามีการทำประมงปลิงทะเลมากที่สุดในปี พ.ศ. 2521 ปริมาณ 226 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.27 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 44.35 ตัน (กรมประมง 2525, 2534) แต่ในปัจจุบันการค้าขายปลิงทะเลส่วนใหญ่จะอยู่จำกัดในพื้นที่ตลาดเยาวราช ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด
ข่าวโดย ประพัฒน์ ไชยแก้ว จ.สตูล