ฤๅประเทศไทยคือสวรรค์แห่งการกระทำความผิด | ว่องวิช ขวัญพัทลุง
ในยุคปัจจุบัน สังคมพัฒนาทั้งทางเทคโนโลยีและความเชื่อมโยงถึงกันทางปัจเจกที่ซับซ้อน มากกว่าโลกยุคอดีต มากเสียจนสมาชิกในสังคมหลงลืม หรือไม่เท่าทันพอที่จะแยกแยะว่า การกระทำบางรูปแบบที่กำลังทำลงไปนั้น คือ เหยื่อแห่งการกระทำความผิด หรือเป็นการกระทำความผิดเสียเอง
ปัจจัยพื้นฐานในความเปราะบางของสมาชิกทางสังคมเหล่านี้ หาใช่รูปแบบแห่งการกระทำความผิดที่สลับซับซ้อนขึ้น หรือความเชี่ยวชาญของผู้กระทำความผิดที่มากขึ้น
แต่กลับเป็นการขาดซึ่ง “องค์ความรู้” อันรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมแนวราบที่ปราศจากการให้ความรู้สู่สังคม และปฏิบัติหน้าที่เชิงราบจนหลงลืมการบูรณาการเชิงรุกที่เรียกว่า “การสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด”
ความเบื้องต้นนี้อาจจะดูเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรง ต่อองคาพยพทางกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการ “ป้องปราม” ความผิดที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่นี้ แต่ผู้เขียนมั่นใจว่าไม่เกินจริงกว่าถ้อยคำที่กล่าวไปแต่อย่างใด
ปัจจุบันนี้เรามีหน่วยงานของรัฐ อันสังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่ทำหน้าที่พิเศษเฉพาะด้านโดยมีเจ้าพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินคดีกับการกระทำความผิดเฉพาะทางมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น “ดีเอสไอ” กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย (Department of Special Investigation) ที่มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีอำนาจจับกุมความผิดที่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ตามอำนาจแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หรือแม้กระทั่งส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง อันปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระและเป็นกลาง อย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ สำนักงาน “ปปง.” (The Anti-Laundering Office)
สำนักงาน ปปง.มีอำนาจหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์ และดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งเป็นหน่วยงานตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินทุกกรณี
ทั้งสององค์กรทำหน้าที่อิสระจากกัน แต่ทำหน้าที่ผ่านการบูรณาการร่วมกันภายใต้แนวคิด “ป้องปราม” และ “ปราบปราม” ต่อการกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับสังคมในระดับมหภาคทางเศรษฐกิจและความมั่นคง
กล่าวคือ ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อมวลรวมของความน่าเชื่อถือทางการลงทุนของประเทศ อันรวมไปถึงวางหลักเกณฑ์และเข้าตรวจสอบ
รวมทั้งพิสูจน์ความผิดอันเกี่ยวข้องกับธุรกรรมหรือทรัพย์สิน ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังการกระทำความผิด อันเป็นความผิดมูลฐานของความผิดที่รุนแรงส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ
ซึ่งมีความเชื่อมโยงผ่านเส้นทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น “คดียาเสพติด ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด” และ “คดีค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” กล่าวคือ ปปง มีหน้าที่วางหลักเกณฑ์ (Regulator) ตรวจสอบและดำเนินการเกี่ยวกับธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฟอกเงิน
ส่วนดีเอสไอทำหน้าที้ในการสอบสวนและพิสูจน์หาพยานหลักฐานในการตั้งข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดตาม “พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ” ก่อนนำคดีฟ้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป
กล่าวถึงตรงนี้อาจเข้าใจว่า การกระทำตามหน้าที่ของทั้งสององคาพยพนั้น สอดคล้องเป็นไปตามหลักการทางกรอบแห่งกกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ครบถ้วน แต่ทำไมสังคมกลับสัมผัสได้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า
“การกระทำความผิดเหล่านี้กลับไม่ได้ลดน้อยลง ซ้ำยังมีการเข้าไปเกี่ยวข้องอันเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าพนักงานในองค์กรเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ”
อะไรคือปัจจัยของข้อเท็จจริงเหล่านี้? หรือการให้อำนาจในการวางหลักเกณฑ์ ตรวจสอบ พิสูจน์พยานหลังฐานแก่เจ้าพนักงานตามหลักการนี้เป็นเพียงแค่มุมหนึ่งของการแก้ปัญหาบนความหมายของคำว่า “ปราบปราม” ซึ่งไม่อาจนำมาซึ่งการลด “อาชญากรรม” ได้จริง?
ประเภทของอาชญกรรมที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของการ “ป้องกัน และ “ปราบปราม” ของทั้งสององค์กรมีดังนี้
1. อาชญากรรมที่ปราศจากผู้เสียหาย
2. อาชญากรรมคอปกขาว
3. องค์กรอาชญากรรม
4. อาชญากรรมเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ดังนี้ การค้ายาเสพติด และการพนันออนไลน์ สองอาชญากรรมนี้เป็นอาชญากรรมที่ปราศจากผู้เสียหาย (Victimless crimes) เพราะผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้กระทำความผิดในคราวเดียวกัน
แต่ในทางเดียวกันอาชญากรรมประเภทนี้กลับเป็นผลลัพธ์ของอาชญากรรมคอปกขาว, องค์กรอาชญากรรม และอาชญากรรมเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน
กล่าวคือ การใช้ความน่าเชื่อถือทางตำแหน่งหน้าที่การงานทั้งทางราชการ เอกชน ที่รวมไปถึงการกระทำร่วมกันเป็นองค์กรอาชญากรรมดำเนินธุรกิจสีเทา
อันส่งผลถึงภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านทางมูลค่าความเสียหายจากการฉ้อโกงประชาชนที่มีมูลค่าสูงเกินบทลงโทษทางกฎหมาย แล้วผันเงินดังกล่าวกลับมาในรูปแบบของการค้ายาเสพติด หรือการพนันออนไลน์ เป็นวัฏจักรแบบนี้เรื่อยไปไม่จบสิ้น
เช่นนี้ ย่อมหมายความว่า “การปราบปราม” นั้น ไม่ได้ก่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กรอันต้องเป็นไปเพื่อลดปัญหาทางอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษแต่อย่างใด
เพราะตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงาน "หาใช่" จำนวนคดีที่ได้ดำเนินการต่อปีว่ามีมากเท่าไร แต่ต้องเป็นการลดจำนวนคดีจากปีทีแล้วลงได้อย่างเป็นนัยสำคัญอย่างไรมากกว่า
ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า การกระทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานภายใต้การปราบปรามนั้นไม่จำเป็นเสียทีเดียว แต่หากเรามอง “อาชญกรรมให้เป็นวิทยาศาสตร์ทางความประพฤติแห่งการกระทำความผิด” เราอาจเจอต้นตอของการลดเหตุแห่งการเกิดอาชญากรรมนั้น ด้วยการป้องกัน หรือในที่นี้ผู้เขียนเรียกว่า “ป้องปราม”
ผ่านการให้องค์ความรู้แก่สมาชิกในสังคมไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหรือกลายเป็นผู้กระทำความผิดโดยไม่รู้ตัว โดยใช้ความเชี่ยวชาญของเจ้าพนักงานในองค์กรที่มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลจัดการปัญหาดังดล่าว
เช่นนี้สถิติทางการเกิดอาชญากรรมอาจลดลงได้ไม่มากก็น้อย โดยมีตัวแปรที่เรียกว่า “เวลา” คือเครื่องพิสูจน์ภูมิคุ้มกันทางความคิดแห่งสังคมมวลรวมนั่นเอง.