เช็กร่างปรับฐานค่าจ้าง ผู้ประกันตน ม.33 ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเป็นหลักพัน
กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นกรณีผู้ประกันตน "ประกันสังคม" มาตรา 33 เรื่อง กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ....
กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นกรณีผู้ประกันตน "ประกันสังคม" มาตรา 33 เรื่อง กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.... ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566 นี้
สำหรับประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายหรือกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็น โดยผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท นายจ้าง และรัฐบาล โดยร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ... มีการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาทอย่างค่อยเป็นค่อยไปสูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท แบ่งเป็น
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมปัจจุบัน ตามกฏกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พบว่า จํานวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคํานวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ขั้นสูงที่แต่ละคนต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เพิ่มดังนี้
- ปี 2567-2569 ไม่เกิน 17,500 บาท
- ปี 2570-2572 ไม่เกิน 20,000 บาท
- ปี 2573 เป็นต้นไป ไม่เกิน 23,000 บาท
จากการปรับฐานค่าจ้างนั้น ตามปกติผู้ประกันตนมาตรา 33 การคำนวณเงินสมทบจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ 5% ต่อเดือน คือ
- เงินเดือน 5,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 250 บาท
- เงินเดือน 10,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 500 บาท
- เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750 บาท
- เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750บาท
ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงตามร่างกฏกระทรวงฯ พ.ศ. .... ฉบับใหม่ ผู้ประกันตน ม.33 ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มด้วย คือ
ปี 2567-2569 จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาทและไม่เกิน 17,500 บาท
- เงินเดือน 5,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 250 บาท
- เงินเดือน 10,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 500 บาท
- เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750 บาท
- เงินเดือน 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบ 875 บาท
- เงินเดือนมากกว่า 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบ 875 บาท
ปี 2570-2572 จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
- เงินเดือน 5,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 250 บาท
- เงินเดือน 10,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 500 บาท
- เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750 บาท
- เงินเดือน 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบ 875 บาท
- เงินเดือน 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท
- เงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท
ปี 2573 เป็นต้นไป ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท
- เงินเดือน 5,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 250 บาท
- เงินเดือน 10,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 500 บาท
- เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750 บาท
- เงินเดือน 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบ 875 บาท
- เงินเดือน 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท
- เงินเดือน 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,150 บาท
- เงินเดือนมากกว่า 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,150 บาท
ส่วนสิทธิประโยชน์ที่จะได้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับผู้ประกันตน คือทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน