ข่าวปลอม อย่าแชร์! เตือนภัยฝนฟ้าคะนองถล่มไทย 4 ภาคทั่วประเทศเตรียมรับมือ
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ตรวจสอบกรณีที่มีการระบุว่า เตือนภัยฝนฟ้าคะนองถล่มไทย 4 ภาคทั่วประเทศเตรียมรับมือ เป็นข้อมูลเท็จ
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า ตามที่มีข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเตือนภัยฝนฟ้าคะนองถล่มไทย 4 ภาคทั่วประเทศเตรียมรับมือ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทาง กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีผู้โพสต์ระบุว่า เตือนภัยฝนฟ้าคะนองถล่มไทย 4 ภาคทั่วประเทศเตรียมรับมือ ทางกรมอุตุนิยมวิทยากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวปลอม โดยจากสภาพอากาศระหว่างวันที่ 14 – 15 ก.พ. 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคตะวันออก จะมีกำลังแรงขึ้น
ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 – 4 องศาเซลเซียส สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะเกิดคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวลือนี้ และติดตามข่าว พยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม และหากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weatherสายด่วน 1182
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยจากสภาพอากาศระหว่างวันที่ 14 – 15 ก.พ. 2566 พบว่าจะเกิดฝนฟ้าคะนองเพียงบางแห่งเท่านั้น
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม