'วันวาเลนไทน์' ไม่คึกคัก กุหลาบราคาพุ่ง คนปลูกผันมาเป็นคนขายตรงกับลูกค้า
"วันวาเลนไทน์" นครพนมไม่คึกคัก กุหลาบแดงราคาพุ่งหลายเท่าตัว เจ้าแม่ร้านดอกไม้รายใหญ่ ชี้ผู้ปลูกป้อนตลาด ผันมาเป็นคนขายตรงกับลูกค้า ทำให้ตลาดขายส่งซบเซา
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศห้วงวันวาเลน์ไทน์ ในพื้นที่จังหวัดนครพนม พบว่ายังไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยร้านขายดอกไม้บริเวณทางออกตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนม ถนนอภิบาลบัญชา มีลูกค้ามาซื้อดอกไม้ไปบูชาพระเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของศาสนิกชนชาวพุทธ โดยนางศรี อายุ 58 ปี แม่ค้าขายดอกไม้ และพวงมาลัย เปิดเผยว่าปีนี้ดอกกุหลาบในเทศกาลวันวาเลนไทน์ไม่หวือหวา สู้ปีที่ผ่านมาไม่ได้ ปกติดอกกุหลาบสีแดงขนาดเล็ก ที่ไม่ใช่เทศกาลแห่งความรัก จะขายในราดาดอกละ 10 บาทถือว่าแพงแล้ว มาปีนี้ราคาส่งดอกกุหลาบแพงขึ้น 2-3 เท่า ลูกค้าส่วนหนึ่งจึงไม่มีกำลังซื้อ
ด้าน นางรัตน์ ดีพรม เอเย่นต์จำหน่ายดอกไม้รายใหญ่ของจังหวัดนครพนม ก็พูดในทิศทางเดียวกันว่าดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์ราคาส่งพุ่งกว่าเท่าตัว โดยดอกกุหลาบแดงจะเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากกว่ากุหลาบสีขาว ถ้าดอกใหญ่ไม่มีการตกแต่งกลีบ จะขายดอกละ 100 บาท หากลูกค้าต้องการให้จัดกลีบดอก ราคาจะอยู่ที่ดอกละ 150 บาท โดยระหว่างผู้สื่อข่าวสอบถามอยู่ ก็มีลูกค้าทำงานราชการได้มารับดอกกุหลาบแต่งกลีบสีขาว 1 ดอก เพื่อนำไปมอบให้สามีที่เพิ่งแต่งงานกันเมื่อพฤศจิกายน 65 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้เจ๊รัตน์เจ้าของร้านดอกไม้รายใหญ่ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม ว่า ดอกกุหลาบส่วนใหญ่ปลูกบนพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนมากจะเป็นชาวม้งเป็นผู้ปลูกรายใหญ่ ในอดีตชาวม้งรุ่นพ่อไม่ค่อยมีความรู้ในการค้าขาย มีหน้าที่ปลูกและมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่ ภายหลังมาถึงรุ่นลูกมีเทคโนโลยี่เข้ามา ประกอบกับได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น จึงมีแนวคิดของคนรุ่นใหม่ จึงตั้งตนเป็นทั้งผู้ปลูกและผู้ขายตรงกับลูกค้า แต่จะแบ่งให้พ่อค้าคนกลางเพียงเล็กน้อย ดังนั้นราคาดอกไม้เมืองหนาวรวมถึงดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์จึงมีราคาสูงขึ้นกว่าทุกปี
เจ๊รัตน์ยังกล่าวต่อว่าดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์จะขายได้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์เลย ออเดอร์สั่งทำเหมือนอดีตมีน้อยมาก ดังนั้นจากการตระเวนตามร้านขายดอกไม้ในเทศบาลเมืองนครพนม จึงไม่มีลูกค้าหาซื้อดอกกุหลาบเพื่อนำไปมอบให้แก่คนรัก จะคึกคักเฉพาะช่วงเช้าของวันแห่งความรักเท่านั้น