ไทยส่งออกข้าว 40 วันแรกของปี 66 ลดลง 12.5% ขอหยุดใช้นโยบายประชานิยมทำลายตลาด
"สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย" ยังคงเป้าส่งออกข้าวปี 66 ที่ 7.5 ล้านตัน ชี้ผ่านมากว่า 40 วัน ไทยส่งออกได้ 9.8 แสนตันลดลง 12.5% จากปัญหาค่าเงินที่ผันผวน ขอรัฐดูแลให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งหยุดใช้นโยบายประชานิยมทำลายตลาดข้าวในระยะยาว
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวขณะนี้ ว่า ทิศทางการส่งออกข้าวไทย เริ่มกลับมาเป็นปกติ และส่งออกข้าวได้มากขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2565 ที่ผ่านมา ส่งออกข้าวได้ 7.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผู้ส่งออกข้าว อันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย ที่ส่งออกได้กว่า 22 ล้านตัน และอันดับ 3 เป็นของเวียดนาม ส่งออกได้ 7.1 ล้านตัน
สำหรับสถานการณ์ข้าวไทยในปีนี้ เดือนมกราคาไทยส่งออกได้ 706,380 ตัน เดือนก.พ.(1-13ก.พ.) ปริมาณ 281,110 ตัน รวมตั้งแต่1ม.ค.13ก.พ. 2566 ไทยส่งออกข้าวร่วม 987,491แสนตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.5% ทั้งนี้สาเหตุมาจนค่าเงินที่ผันผวนซึ่งส่งผลต่อการส่งออกข้าว โดยปีนี้สมาคมตั้งเป้าส่งออกข้าวที่7.5ล้านตัน คิด 3,800ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ข้าวนึ่ง 1.5ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ 1.5ล้านตัน ข้าวหอมไทย 0.5ล้านตัน ข้าวเหนียว0.3ล้านตัน และข้าวขาว3.7ล้านตัน
อย่างไรก็ตามมองว่า นโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรผลักดัน คือการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ตลาดต้องการ เพราะที่ผ่านมาไทย ขายข้าวชนิดเดิมมากว่า 30 ปีแล้ว อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน เพราะแต่ละปีไทย ผลิตข้าวได้ถึงปีละ 20 ล้านตันข้าวสาร ใช้ในประเทศไม่เกิน 12 ล้านตัน ทำให้ปริมาณข้าวในประเทศแต่ละปีจะเหลือถึง 8 ล้านตันที่จะต้องส่งออก หากไม่สามารถระบายได้ ก็จะกลายเป็นสต๊อกเหลือค้างกดราคาข้าวในประเทศให้ตกต่ำลง
นอกจากนี้อีกสิ่งที่สำคัญ คือการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ไม่ให้มีความผันผวนมาก เพราะการที่บาทแข็งหรือบาทอ่อนเกินไปไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออก สิ่งที่ผู้ส่งออกอยากได้คือความเสถียรของค่าเงินมากกว่า เพราะที่ค่าเงินอ่อนแข่งค่าทุก1บาทมีจะผลต่อราคาข้าว15 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนที่ควรจะอยู่ตรงการและผู้ส่งออกพอใจคือระดับ34-35บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ย้ำว่า นโยบายที่ดำเนินการแล้วบิดเบือนกลไกตลาด จะเกิดปัญหาต่อภาคการส่งออกข้าวแน่นอน ส่วนการช่วยเหลือชาวนารูปแบบอื่น มองว่ายังสามารถดำเนินการได้ หรือแม้แต่การจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกร ก็ยังพอรับได้ เพราะราคาซื้อขายข้าว ยังเป็นไปตามกลไกตลาด แต่การรับจำนำข้าว ถือว่าบิดเบือนตลาดชัดเจน เห็นได้ชัดเจนในช่วงปีที่มีการเปิดรับจำนำข้าว การส่งออกข้าวไทยลดลงทันที จาก 10 ล้านต้น เหลือเพียง 5 ล้านตันเท่านั้น