ถูกดูดเงินจากบัญชี ผู้ใดต้องรับผิดชอบ
ช่วงนี้นอกจากมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรหลอกลวงแล้ว ยังมีมิจฉาชีพส่งข้อความหรือลิ้งค์ เข้ามือถือ หากเข้าไปกดอ่านข้อความหรือกดลิ้งค์ที่ส่งมา อาจทำให้มิจฉาชีพแฮ็กข้อมูลบัญชีเงินฝากของเจ้าของโทรศัพท์มือถือ แล้วดูดเงินจากบัญชีไปได้
ล่าสุดมีการออกข่าวว่าแม้ไม่ได้กดเข้าไปดูข้อความหรือลิ้งค์ที่มิจฉาชีพส่งมา ผู้ที่ใช้แอพโมบายแบงกิ้งก็อาจถูกแฮ็ก และดูดเงินออกจากบัญชีได้ ทำให้ประชาชนหวั่นวิตกว่า เงินในบัญชีของตนที่ถูกดูดไปจะสูญเสียเงินไปเลยหรืออย่างไร
กฎหมายหลักเรื่องการฝากเงิน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ10 ฝากทรัพย์ หมวด2 วิธีเฉพาะการฝากเงินมาตรา 672 บัญญัติว่า “ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากต้องคืนเงินครบจำนวนเท่านั้น แม้เงินซึ่งฝากนั้นจะสูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น”
ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 672 สรุปได้ว่าการฝากเงินนั้น กรรมสิทธิ์ของเงินตกเป็นของผู้รับฝาก ผู้รับฝากเอาเงินนั้นไปใช้ประโยขน์ได้ โดยผู้รับฝากมีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวน
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับเงินฝาก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1795/2541
จำเลยเป็นธนาคารผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในการเอาเงินฝากของผู้ฝากไปแสวงหาผลประโยชน์ จะต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบลายมือชื่อผู้จ่ายว่าเหมือนลายมือชื่อที่ให้ตัวอย่างไว้แก่จำเลยหรือไม่
ฉะนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญดังกล่าวแต่อย่างใด การที่จำเลยได้จ่ายหรือหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ให้บุคคลอื่นไปจึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย
จำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คที่มีลายมือชื่อโจทก์ปลอมรวม 54 ฉบับ และหักเงินจากบัญชีของโจทก์ พร้อมคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่โจทก์ตลอดมา ดังนี้ นอกจากต้องคืนเงินตามเช็คทั้ง54 ฉบับ แก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องคืนดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2545
จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย มีหน้าที่รับฝากและถอนเงินให้ลูกค้า แต่เงินที่ลูกค้านำฝากเข้าบัญชีของลูกค้าเป็นของผู้เสียหายเป็นของผู้เสียหายและอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย
การที่จำเลยใช้ใบถอนเงินหรือแก้ไขบัญชีเงินฝากของลูกค้าผู้ฝากต่างกรรมต่างวาระในรูปแบบทางเอกสารเป็นกลวิธีในการถอนเงินของผู้เสียหายจนเป็นผลสำเร็จแล้วทุจริตนำเงินนั้นไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์มิใช่ยักยอก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2554
ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคาร แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบ และหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว
เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของผู้เสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14783/2555
การที่จำเลยมอบเช็คปลอมให้พนักงานของผู้เสียหายนำไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อแท้จริงของ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม
เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคารมิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักเงินของโจทก์ร่วมแต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2563
จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ
การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ซึ่งมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมและผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์
จำเลยจะยกข้ออ้างว่า พนักงานของจำเลยโทรศัพท์สอบถามผู้จัดการของโจทก์ เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเกินจำนวน และยกพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเช็คพิพาทว่า เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์
ตลอดจนอ้างว่าโจทก์ผู้รับรองการถอนเงินตามเช็คเป็นการรับสภาพหนี้ ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดหาได้ไม่
แต่พฤติการณ์ที่โจทก์มอบให้ผู้จัดการของโจทก์ เป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์ไว้ผู้เดียว ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ที่ให้คณะกรรมการของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คโจทก์
และการยอมให้กรรมการผู้มีอำนาจบางคนลงลายมือชื่อในเช็คไว้ล่วงหน้า ทั้งการสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกลับจ่ายเป็นเช็คผู้ถือ โดยไม่ระบุชื่อผู้รับเงินและไม่ขีดคร่อมเช็คตามข้อบังคับของโจทก์
รวมทั้งไม่ตรวจสอบรายการเดินบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งให้ทราบทุกเดือน จนทำให้มีผู้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีโจทก์ถึง 44 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน
ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยด้วย สมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่เต็มตามฟ้อง
บทสรุป แนวคำพิพากษา ศาลฎีกา จากบทบัญญัติของป.พ.พ.มาตรา 672 ดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า
กรณีที่มิจฉาชีพเข้าไปดูดเงินจากบัญชีเงินฝากของประชาชนที่ฝากไว้กับธนาคาร เป็นการกระทำต่อทรัพย์ของธนาคารเป็นการลักเงินของธนาคาร ธนาคารเป็นผู้เสียหาย ธนาคารยังคงมีหน้าที่คืนเงินให้ผู้ฝากครบตามบัญชีเงินฝาก เว้นแต่ผู้ฝากเงินจะมีส่วนประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้มิจฉาชีพเข้าไปแฮ็กหรือเข้าถึงบัญชีเงินฝากและถอนหรือดูดเงินไปได้ ซึ่งผู้ฝากเงินก็ต้องมีส่วนรับผิดตามส่วนตามนัยของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2563 ดังกล่าว