กมธ.ปภ.สภา ถกหน่วยงาน ตรวจความพร้อมรับมือภัยแล้ง ไฟป่า พีเอ็ม 2.5 ภาคเหนือ

กมธ.ปภ.สภา ถกหน่วยงาน ตรวจความพร้อมรับมือภัยแล้ง ไฟป่า พีเอ็ม 2.5 ภาคเหนือ

"ยุทธพงศ์" ประธาน กมธ.ปภ.สภาฯ นำคณะลงพื้นที่เชียงใหม่ ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจความพร้อมรับมือภัยแล้ง ไฟป่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ภาคเหนือ ก่อนเข้าสู่หน้าแล้ง

คณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปภ.) นำโดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ประธาน กมธ.พร้อมคณะ กมธ.ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมหน่วยงานที่ดูแลสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ณ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้าภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ พร้อมทั้งประชุมหารือกับผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  นายอรรถพล  เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  

กมธ.ปภ.สภา ถกหน่วยงาน ตรวจความพร้อมรับมือภัยแล้ง ไฟป่า พีเอ็ม 2.5 ภาคเหนือ
 

ที่ประชุมได้หารือ ถึงแนวทางป้องกันและแก้ปัญหา งบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบความพร้อม อุปกรณ์และเครื่องมือในการรองรับไฟป่า และจุดฮอตสปอต(ค่าความร้อน)ครอบคลุมหรือไม่ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ทั้งนี้ กมธ.ปภ.ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อดูสภาพพื้นที่และแนวป้องกันไฟป่า ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 

กมธ.ปภ.สภา ถกหน่วยงาน ตรวจความพร้อมรับมือภัยแล้ง ไฟป่า พีเอ็ม 2.5 ภาคเหนือ

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปี จะมีความกดอากาศต่ำและมวลอากาศเย็น จึงทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศสูง และกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน จากสถานการณ์เลวร้ายด้านฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อากาศแห้งแล้งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ป่าได้ง่าย จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในขั้นวิกฤติติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และมีผลต่อสุขภาพของประชาชนและนักท่องเที่ยว คณะ กมธ.ปภ.จึงกังวลและห่วงใย  

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ตน และคณะ กมธ.ปภ.เห็นว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการเตรียมความพร้อมในการดับไฟป่า อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกำลังพล และมีหน่วยอาสาดับไฟป่า มีจุดฮอตสปอตกระจายครอบคลุม เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และ PM 2.5 อย่างจริงจัง

"แม้วันนี้ปัญหา  PM 2.5 จะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่ารถยนต์ อุตสาหกรรม การเผา หรือแม้แต่การเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่สิ่งที่ คณะกมธ.ปภ.ตระหนักเสมอ เพื่อควบคุมไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายมากกว่าที่เป็นอยู่ คือความเข้าใจของชาวบ้านหยุดเผา คืนสุขภาพดีในระยะยาว ความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาก่อนเกิดเหตุ ถือเป็นหน้าที่ของ กมธ.ปภ." นายยุทธพงศ์ กล่าว