กยท. ฟันธง แนวโน้มราคายางยังสดใส เร่งเคลื่อนประกันรายได้เฟส 4
กยท. เผยสถานการณ์ราคายาง มีแนวโน้มที่ดี ปัจจัยพื้นฐานยังเกื้อหนุน พร้อมเร่งขับเคลื่อน โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 หลัง ครม. เปิดไฟเขียว ย้ำภายในเดือนมีนาคมเงินถึงมือเกษตรกรแน่นอน มั่นใจช่วยสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งให้ชาวสวนยาง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ยางพารา ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ว่า ราคายางทุกชนิดค่อนข้างผันผวน แต่ไม่มากนัก โดยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ราคาเฉลี่ยประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางแผ่นดิบราคาเฉลี่ยประมาณ 47 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานแล้ว ราคายางน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูหนาวและกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนยางจะผลัดใบและแตกใบอ่อน เกษตรกรจะงดการกรีดยาง เพื่อเป็นการพักต้นยางพารา สร้างความเจริญเติบโตให้กับยางพารา จึงทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยลง
นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงในประเทศผู้ปลูกยางรายใหญ่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย มีสวนยางได้รับผลกระทบมากกว่า 3 ล้านไร่ เช่นเดียวกับประเทศไทยมีสวนยางทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออกได้รับผลกระทบรวมกันอีกประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ปริมาณยางในตลาดหายไปส่วนหนึ่ง ในขณะที่ความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยาง จึงเป็นปัจจัยหนุนที่จะทำให้ราคายางมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคายางผันผวน ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับ กยท. ประมาณ 1.6 ล้านราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวมกว่า 18.18 ล้านไร่ ซึ่งเป็นสวนยางที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปและเปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยกำหนดราคาประกันผลผลิตยางแต่ละชนิด ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม แบ่งสัดส่วนให้เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด ใช้งบประมาณดำเนินโครงการประ มาณ 7,643.86 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังอนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2 ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยรัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 600 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ให้แก่กิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ภายใต้เงื่อนไขรับซื้อไม้ยางราคาไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท/ตัน ทั้งนี้กำหนดระยะเวลาในการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการ 1 ปีอีกด้วย
“การดำเนินโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ในช่วงที่ราคายางมีราคาผันผวน ซึ่ง กยท. ได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง มาแล้ว 3 ระยะ ตั้งแต่ตุลาคม 2562 วงเงินรวมทั้งสิ้น 46,682.88 ล้านบาท ถือเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ สร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สำหรับโครงการประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 จะเริ่มจ่ายเงินถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางได้ภายในมีนาคม2566นี้” ผู้ว่าการ กยท. กล่าวย้ำในตอนท้าย