เช็กข้อดี "พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี" พวกรับจ้างเปิด บัญชีม้า มีหนาว
"พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี" เช็กเลยมีข้อดีอะไรบ้าง? พวกรับจ้างเปิด "บัญชีม้า" มีหนาว เจอโทษหนักคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท
ในปัจจุบันนี้ "มิจฉาชีพ" มีวิธีการหลอกลวงประชาชนหลากหลายรูปแบบ แต่ที่สร้างความเสียหายเป็นอันดับต้นๆคือการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยายตัวรวดเร็วและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง
อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจสถาบันการเงิน (ธนาคาร) หรือผู้ประกอบธุรกิจ สามารถระงับการทำธุรกรรมใดๆที่ต้องสงสัยว่าเป็นธุรกรรมที่กระทำผิดทางอาญา โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีอื่นที่อยู่ในขบวนการ หรือที่เรียกว่า "บัญชีม้า" ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับการทำธุรกรรมหรืออายัดเงินได้ทันท่วงที
ทั้งนี้จึงนำมาสู่การตราร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ และให้ส่งร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพ
โดยร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ "พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี" ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการ "หลอกลวงออนไลน์" รวมถึงอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการระงับยับยั้ง "บัญชีม้า" และ ซิมม้า
ซึ่งต่อไปผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือ ซิมม้า จะมีความผิดตามกฎหมาย คือ โทษจำคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท กรณีผู้ที่เป็นธุระจัดหา หรือโฆษณาบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก 2 - 5 ปี หรือปรับ 200,000 - 500,000 บาท
สำหรับประชาชนผู้เสียหาย สามารถโทรแจ้งให้ธนาคารระงับบัญชีต้องสงสัยได้ทันที และยับยั้งการโอนเงินทุกธนาคารที่รับโอนเงินต่อ
และกฎหมายนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจใดก็ได้ทั่วประเทศ หรือทางออนไลน์ก็ได้ สำหรับ "ธนาคาร" สามารถระงับบัญชีต้องสงสัยได้เป็นการชั่วคราว ไม่ต้องรอเกิดเหตุ เพื่อเป็นการป้องกัน
นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ยังส่งเสริมให้เกิดระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล และใช้เทคโนโลยี AI ตรวจสอบและระบุธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อป้องกันและตัดวงจรอาชญากรรมก่อนเกิดเหตุ