'เซียนพระ' คอตก โดนจับหลอกขายพระเครื่องทิพย์ สารภาพ-พบประวัติโชกโชน
ตำรวจจับ "เซียนพระ" หลอกขายพระเครื่องออนไลน์ เริ่มก่อเหตุตั้งแต่ จบ ม.6 ปี 2560 ทำเหยื่อหลงเชื่อ ตกเดือนละ 20 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้าน เจ้าตัวอ้างช่วงแรกส่งของให้จริง แต่ระยะหลังติดพนันไพ่ป็อก เงินหมุนไม่ทัน พบประวัติโชกโชนถึง 9 คดี
ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวน บช.น. ชุด PCT ชุดปฏิบัติการ 5 นำกำลังจับกุมตัว นายภัทระ หรือฟลุ๊ค (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี เซียนพระ ผู้ต้องหา หลอกขายพระเครื่องออนไลน์ เสียหายกว่า 5 ล้านบาท
สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายร้องทุกข์ หลังถูกคนร้ายชื่อเซียนฟลุ๊ค ก่อเหตุสร้างเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชีต่างๆ เข้าไปโพสต์หลอกเช่าบูชาพระเครื่องในกลุ่มต่างๆ กว่า 50 กลุ่ม ในพื้นที่อีสานตอนใต้ โดยโพสต์ประกาศเช่าบูชาพระเครื่องส่งพระ ก่อเหตุต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 5 ล้านบาท
จากนั้น ตำรวจได้ทำการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ขอหมายจับศาลแขวงธนบุรี จึงนำไปสู่การจับกุมได้บริเวณหน้าบ้านไม่ทราบเลขที่ ภายในซอยวัดร่าง บ้านกุดแห่ ถ.ชยางกูร ตำบลกุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ซึ่งเป็นบ้านที่ผู้ต้องหาหลบมาพักอาศัย ก่อนคุมตัวสอบสวน
สอบสวนผู้ต้องหา ให้การยอมรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าตนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เริ่มก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2560 โดยขณะนั้นอายุประมาณ 19 ปี ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่องใหม่ สายภาคอีสานใต้ เคยมีเฟซบุ๊กสำหรับโพสต์ประกาศเช่าบูชาพระเครื่องส่งพระให้ลูกค้าจริง ซึ่งมีเครดิต มีคนติดตาม มีรายได้จากการปล่อยเช่าบูชาพระเครื่องกว่าเดือนละ 100,000 ถึง 200,000 บาท ต่อเดือน
แต่เนื่องจากติดเล่นเสียการพนันตามบ่อนวิ่ง ไพ่ป๊อกวิ่งในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถมีเงินมาหมุนทำการเช่าซื้อขายพระได้ จึงใช้เครดิตการเช่าซื้อขายพระ ที่ตนพอมีชื่อเสียงทำการหลอกเช่าบูชาพระเครื่องกับลูกค้าที่สนใจในกลุ่มเฟซบุ๊ก อาทิเช่น กลุ่ม “ สุดยอดวัตถุมงคลหลวงปูแสง ญาณวโร ” , กลุ่ม “ พระเครื่องหลวงพ่อเล็กวัดท่าขนุน ” , กลุ่ม “ ครูบากฤษดา ” เป็นต้น
เมื่อมีลูกค้าเริ่มทราบข่าวการถูกตนโกง ตนก็จะทำการเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊ก โดยใช้วิธีการสลับเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กเดิมจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ หรือสลับใช้นามสกุลภาษาอังกฤษขึ้นก่อนชื่อ หรือใช้ชื่ออื่นๆ ที่สื่อความหมายถึงวัด ทั้งนี้ ช่วงใดที่ตนเล่นพนันจนมีเงินก้อนพอใช้ก็จะหยุดโกงเพื่อให้เรื่องซา และกลับมาทำใหม่อีกเช่นเดิมวนไป
ที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยมีผู้เสียหายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ เดือนละประมาณ 20 ราย มีรายได้จากผู้เสียหายที่หลงเชื่อ รายละ 5,000 ถึง 400,000 บาท ก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2560 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 5,000,000 บาท เงินที่ได้จากการก่อเหตุรับว่านำไปใช้จ่ายในชีวิตและเล่นพนันตามบ่อนวิ่งไพ่ป๊อก เมื่อตรวจสอบประวัติ พบเคยก่อเหตุลักษณะดังกล่าวมาแล้ว จำนวน 9 คดี
เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ ฉ้อโกง , โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ” ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย