ประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลู ป่าต้นน้ำห้วยป่าปู แห่งแรกในแม่น้ำอิง

ประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลู ป่าต้นน้ำห้วยป่าปู แห่งแรกในแม่น้ำอิง

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับ ชุมชนบ้านร้องหัวฝาย ประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลู ป่าต้นน้ำห้วยป่าปู แห่งแรกในแม่น้ำอิง

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับชุมชนบ้านร้องหัวฝาย หมู่ที่ 12 ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้ประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลูป่าต้นน้ำห้วยป่าปู ต้นน้ำแม่น้ำอิงตอนปลาย เพื่อเป็นพื้นที่บ้านปลอดภัยของเต่าปูลูแห่งแรกในแม่น้ำอิง สืบเนื่องจากในปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านทางสมาคมฯร่วมกับชุมชนในลุ่มน้ำอิง 7 ชุมชน ได้ทำการศึกษางานวิจัยชาวบ้าน แนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย ซึ่งพบว่าเต่าปูลู หรือเต่าปากนกแก้ว (Siamese Big-headed) พบได้ตามป่าต้นน้ำสาขาแม่น้ำอิง ทั้งจากการตรวจ eDNA และการพบตัวของชาวบ้าน เต่าปูลูยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จากงานวิจัยพบว่าในอดีตมีเต่าปูลูอาศัยอยู่อย่างชุกชุมในป่าต้นน้ำที่มีลักษณะเป็นธารน้ำตก ปัจจุบันมีจำนวนลดลง ภัยคุกคามหลักคือเรื่องของการล่าเพื่อส่งออก ปัญหาไฟป่าที่เผาพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ของเต่า รวมถึงพื้นที่อยู่อาศัยที่มีเพียงจำกัดเฉพาะป่าต้นน้ำ ทางสมาคมฯจึงได้หาแนวทางในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าปูลูเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเต่า ได้นำร่องจัดทำบ้านเต่าปลอดภัยประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลูในป่าต้นน้ำห้วยป่าปู ป่าต้นน้ำสาขาของลำห้วยซ้อ
 

นายไหว เพ็ชรหาญ ผู้ใหญ่บ้านร้องหัวฝาย กล่าวว่า ขอขอบคุณทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตที่ได้มาร่วมกับชุมชนบ้านร้องหัวฝายหมู่ที่ 12 ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ดีใจที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรบ้านเราไว้ ลำห้วยที่เราอนุรักษ์ชุมชนเราเรียกว่าห้วยป่าปู เป็นเขตอนุรักษ์เต่าปูลูเพื่อให้ชุมชนเรามาช่วยกันดูแล โดยเฉพาะชุด ชรบ. เป็นคณะทำงานเข้ามาดูแล

ด้าน นายสิงห์ทอง แก้วระกา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร้องหัวฝาย กล่าวว่า ทางคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกับคณะ ชรบ. ได้มาทำการประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลูในพื้นที่ชุมชนของเรา ที่ผ่านมามีการล่าปูลูในชุมชนของเรา มีชาวเขาได้เข้ามาล่าหรือมากรีดยาง ทางหมู่บ้านก็เลยได้ทำแนวเขตป่าชุมชน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องเต่าปูลูขึ้นมา อีกส่วนก็ได้ขอมติที่ประชาคมหมู่บ้านห้ามมีการล่าเต่าปูลู ให้มีการอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้รู้จักเต่าปูลูต่อไปในอนาคต ที่ผ่านก็ได้มีการณรงค์ และประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย และประสานผู้นำชุมชน เพราะชุมชนบ้านห้วยซ้อจะมีอยู่ 6 หมู่บ้าน วันนี้หมู่12 บ้านร้องหัวฝายได้นำร่องในการอนุรักษ์เต่าปูลูตามมติชุมชนที่ได้คุยกันมาแล้ว แนวทางเราก็มีการทำแนวกันไฟ เพราะว่าเต่าปูลูตามที่ชุมชนเราได้ศึกษามามันจะวางไข่ริมน้ำหรือขอบเขตริมฝั่งที่พ้นน้ำ จะทำให้ไฟไหม้ไข่ปูลูได้ ไม่เหมือนเต่าอื่นที่ไข่ฝังกลบในทราย ในฤดูแล้งทางคณะกรรมการก็จะมีการลาดตระเวนตามแนวเขตป่าไม่ให้ใครมาล่าเต่าปูลู และช่วงนี้เราก็มีการทำฝายชะลอน้ำ เพื่อให้เต่าปูลูมีน้ำในการหล่อเลี้ยง และได้กำหนดเขตอนุรักษ์เต่าปูลูและได้มีการปักป้ายไว้
 

นายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้พูดถึงแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยชุมชนว่า จากปัญหาภัยคุกคามหลักที่มีอยู่คือการล่า ไฟป่า และพื้นที่อยู่อาศัยลดลง ทางสมาคมฯ ได้ร่วมกับชุมชนศึกษางานวิจัยชาวบ้านได้มีแนวทางการอนุรักษ์เต่าปูลู ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแต่ปัญหาการล่าก็ยังมีอยู่ในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ คอยเป็นหูเป็นตาเป็นเรื่องสำคัญในการอนุรักษ์เต่าปูลู ได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาคือการจัดตั้งคณะทำงานในระดับชุมชนเพื่อคอยดูแลเรื่องการล่าเต่าปูลู มีมติชุมชนเกี่ยวกับการห้ามล่า กำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย ฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น ฝายน้ำล้น ป้องกันไฟป่า การลาดตระเวน รวมถึงตั้งกองทุนบ้านเต่าปลอดภัยเพื่อให้ชุมชนทำกิจกรรมการอนุรักษ์พื้นที่แหล่งอาศัยของเต่าปูลู

 โดยทางหมู่บ้านและสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้จัดทำข้อเสนอจากการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน 10 ข้อดังนี้

1) จัดตั้งคณะทำงานในการทำหน้าที่ในการดูแลเต่าปูลูหรือกรรมการป่าชุมชน สำหรับชุมชนที่ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการมาก่อน

2) มติชุมชนเพิ่มเรื่องการห้ามล่าเต่าปูลูเพิ่มเข้าไปยังกฎของหมู่บ้าน โดยการประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับรองเพิ่มเติม

3) รณรงค์เรื่องการห้ามล่าเต่าปูลู โดยการทำป้ายติดตามจุดสำคัญในป่า ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ประสานงานชุมชนใกล้เคียงเรื่องการขอความร่วมมือห้าล่าเต่าปูลูในห้วยม่วงชุม หากละเมิดจะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4) กำหนดพื้นที่ห้ามล่าเต่าปูลูในชุมชน กันเขตพื้นที่เป็นแหล่งอนุรักษ์บ้านเต่าปูลู โดยใช้พื้นที่ป่าชุมชนเดิมที่ทำการอนุรักษ์อยู่แล้วหรือจะกำหนดพื้นที่ขึ้นมาใหม่แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละชุมชน

5) จัดกิจกรรมการอนุรักษ์พื้นที่อาศัยเต่าปูลู เช่น ทำแนวกันไฟ ฝายน้ำล้น ลาดตระเวนสอดส่อง ทำพิธีสืบชะตา/บวชป่า ลำห้วย หรือเลี้ยงผีขุนน้ำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่เต่าปูลูและเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น

6) ประชาสัมพันธ์ รณรงค์กฎหมู่บ้านเรื่องการห้ามล่าเต่าปูลู ให้กับชุมชนใกล้เคียง บุคคลภายนอก หรือคนในชุมชนห้ามล่าเต่าปูลูโดยเด็ดขาด หรือให้ทางคณะกรรมการไปบอกโดยตรงกับคนต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน รวมถึงการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

7) จัดตั้งกองทุน “บ้านเต่าปูลู” เพื่อสนับสนุนกิจกรรมคณะทำงานในการทำการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ เช่นฝายชะลอน้ำ แนวกันไฟ ลาดตระเวนตรวจตรา เป็นต้นให้กับชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงเพื่อทำกิจกรรมการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เต่าปูลู

8) สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับตำบล หรือระดับลุ่มน้ำ โดยใช้เครือข่ายความร่วมมือ สภาประชาชนแม่น้ำอิง เป็นพื้นที่ผลักดันให้เต่าปูลูเป็นวาระของชุมชนในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู

9) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยชุมชน รวมถึงความร่วมมือกับนักวิชาการในพื้นที่เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งอาศัยเต่าปูลูให้ครอบคลุมทุกชุมชนและขยายแนวคิดสู่ลุ่มน้ำใกล้เคียง

10) ให้สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ระดมทุน เพื่อสนับสนุนกองทุนบ้านเต่าปูลูให้กับชุมชน เพื่อทำกิจกรรมขับเคลื่อนการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้ชื่อ “กองทุนบ้านเต่าปูลู”