7 วันอันตราย สงกรานต์ 2566 วันที่ 2 เกิดอุบัติรววม 618 ครั้ง เสียชีวิต 63 ราย
7 วันอันตราย สงกรานต์ 2566 วันที่ 2 เกิดอุบัติรววม 618 ครั้ง เสียชีวิต 63 ราย ศปถ. กำชับจังหวัดเข้มข้นถนนสายหลัก-รอง ย้ำกลไกในพื้นที่ดูแลความปลอดภัยในเดินทาง - เล่นน้ำสงกรานต์
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2566 เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 36 ราย ผู้บาดเจ็บ 330 คน สถิติอุบัติเหตุสะสม 2 วัน (11-12 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 618 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 63 ราย ผู้บาดเจ็บ 618 คน โดยการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เน้นย้ำจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นกวดขันการขับรถเร็วและการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต พร้อมประสานจังหวัดใช้กลไกในระดับพื้นที่เข้มข้นการปฏิบัติงานของด่านชุมชน คุมเข้มการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ รวมถึงดูแลการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 36 ราย ผู้บาดเจ็บ 330 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 41.30 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 22.12 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.97 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.17 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.28 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 81.42 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 19.01 – 20.00 น. ร้อยละ 11.75 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 19.13 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 14 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (6 ราย)
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,874 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,594 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 338,612 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 56,566 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 17,371 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 16,968 ราย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2 วัน (วันที่ 11 – 12 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 618 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 63 ราย ผู้บาดเจ็บ 618 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (25 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (7 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (27 คน)
นายบุญธรรม กล่าวต่อว่า จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 2 วันที่ผ่านมาพบว่า พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ผู้ประสบเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 57.71 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 18.36 ประกอบกับวันนี้เป็นวันแรกของวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้เดินทางถึงจุดหมายแล้ว อีกทั้งหลายพื้นที่มีการจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาดว่าจะมีการใช้เส้นทางถนนสายรองโดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อถนนสายหลัก ระหว่างอำเภอ อบต.และหมู่บ้าน ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง ศปถ. จึงได้กำชับจังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างต่อเนื่อง เน้นการดูแลบริเวณสถานที่จัดงาน พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และเส้นทางโดยรอบพื้นที่โซนนิ่งเป็นพิเศษ รวมถึงใช้กลไกในระดับพื้นที่ดำเนินมาตรการทางสังคมอย่างเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยทางถนน เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของด่านชุมชน จุดตรวจ และจุดสกัด ในชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย และรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำ พร้อมทั้งให้เข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
“วันนี้หลายพื้นที่ได้จัดกิจกรรมรื่นเริงเล่นน้ำสงกรานต์ จึงขอฝากเตือนประชาชนให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญเมื่อใช้รถใช้ถนน รวมถึงเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย และขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมไทยเนื่องในประเพณีสงกรานต์ 2566 ตามแนวคิด“สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” เพื่อให้ปีใหม่ไทยปีนี้มีแต่ความสุขและความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป” อธิบดี ปภ. กล่าวเพิ่มเติม