ทดสอบเปิดแอร์ช่วงอุณหภูมิ 35 องศา vs 41 องศา กินไฟต่างกันแค่ไหน ทำไมค่าไฟแพง?
การไฟฟ้านครหลวง (MEA) เผยผลทดสอบกรณีเปิดแอร์ช่วงสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงอุณภูมิ 41 องศาเซลเซียส ว่ามีผลลัพธ์กินไฟแตกต่างกันแค่ไหน
การไฟฟ้านครหลวง (MEA) เผยผลทดสอบกรณีเปิดแอร์ช่วงสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงอุณภูมิ 41 องศาเซลเซียส ว่ามีผลลัพธ์กินไฟแตกต่างกันแค่ไหน ไล่ตั้งแต่เปิดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง , 8 ชั่วโมง และเปิดติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน
ผลการทดสอบเกี่ยวกับการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ขนาด 12,000 BTU ในสภาพอากาศร้อน ตั้งค่าอุณหภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้องที่ 35 องศาเซลเซียส และ 41 องศาเซลเซียส ซึ่งได้ผลดังนี้
อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส
- เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 0.69 หน่วย
- เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 5.52 หน่วย
- เปิดแอร์ 1 เดือน ใช้ไฟฟ้า 165.6 หน่วย
อุณหภูมิ 41 องศาเซลเซียส
- เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 0.79 หน่วย
- เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 6.32 หน่วย
- เปิดแอร์ 1 เดือน ใช้ไฟฟ้า 189.6 หน่วย
การคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้ารายเดือนโดยสมมติให้เป็นการเปิดเครื่องปรับอากาศ 8 ชั่วโมง ต่อวัน นาน 30 วัน ได้ข้อสรุปว่า เมื่ออากาศร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียส หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น 14%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'ค่า Ft' คืออะไร? ทำไมส่งผลต่อราคา 'ค่าไฟแพง'
- ส่องนโยบาย 7 พรรคการเมือง ‘ลดค่าไฟ’ เหลือเท่าไหร่หลังเลือกตั้ง?
- ดาราคนดังแห่ติดแฮชแท็ก 'ค่าไฟแพง' สนั่นโซเชียล
ทั้งนี้ แฮชแท็ก "ค่าไฟแพง" ในโลกทวิตเตอร์ซึ่งมีชาวโซเชียลต่างพากันแชร์บิลค่าไฟในช่วงเดือนที่ผ่านมาซึ่งพบว่า ค่าไฟแต่ละบ้านนั้นพุ่งสูงเป็นเท่าตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งดาราหลายคนก็ได้โพสต์ตะลึงกับค่าไฟที่ต้องจ่ายในเดือนล่าสุดเช่นกัน
ขณะที่ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สนง.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ก็ได้มีการชี้แจงสาเหตุที่ค่าไฟแพง ระบุว่า ช่วงเดือนเมษายน เป็นช่วงฤดูร้อน จะเห็นว่าอัตราการใช้ไฟฟ้าจะพีคในช่วงนี้ โดยอัตราค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย. ยังอยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท ยังไม่ใช่อัตราใหม่ (4.77 บาท/หน่วย) ต้องไปดูว่า แต่ละบ้านใช้ไฟฟ้าจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นหรือไม่
ช่วงพีค แน่นอนว่าจะส่งผลทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิข้างนอกสูงขึ้น เช่น ฤดูอื่นๆเปิดแอร์ 1 ชม.อาจกินไฟ 5 หน่วย แต่หน้าร้อนจะกินไฟเพิ่มเป็น 7 หน่วย ทั้งที่เปิดเวลาเท่ากัน ซึ่งเมื่อจำนวนหน่วยไฟฟ้าเพิ่มส่งผลให้ค่าไฟฟ้าก็ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย