ปภ. รายงานกรณีหอเตือนภัยขัดข้อง มีเสียงสัญญาณจากหอเตือนภัยดัง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานกรณีหอเตือนภัยขัดข้อง มีเสียงสัญญาณจากหอเตือนภัยดัง โดย จนท.ไม่ได้ส่งสัญญาณ
เมื่อวันที่ 27 เม.ย.66 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานกรณีมีเสียงสัญญาณหอเตือนภัยดังในหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 เวลาประมาณ 03.30 น. ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ตื่นตระหนก ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีหอเตือนภัยจำนวน 25 แห่ง ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้ส่งสัญญาณเสียงทดสอบ ได้แก่
1. จังหวัดพังงา จำนวน 2 แห่ง ที่บ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า และโล๊ะปาเหรก หมู่ 7 ตำบลพรุ อำเภอเกาะยาว
2. จังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 แห่ง ที่ (1) หาดกะตะ (2) หาดกมลา อำเภอกะทู้ (3) บริเวณโรงแรมดุสิตลากูน่า อำเภอถลาง
3. จังหวัดระนอง จำนวน 3 แห่ง ที่ (1) ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ (2) ตำบลม่วงกลาง อำเภอกะเปอร์ (3) บ้านอ่าวเคย ตำบลม่วงกลวง อำเภอสุขสำราญ
4. จังหวัดสตูล จำนวน 1 แห่ง ที่หมู่ 3 บ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู
5. จังหวัดนราธิวาส จำนวน 1 แห่ง ที่หมู่ 12 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส
6. จังหวัดกระบี่ จำนวน 3 แห่ง ที่ (1) บ้านเกาะกวาง ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง (2) เกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง และ (3) แหลมโพธิ์ ตำบลไสยไทย อำเภอเมืองกระบี่
7. จังหวัดชุมพร จำนวน 1 แห่ง ที่บ้านปากน้ำละแม หมู่ 1 ตำบลละแม อำเภอละแม
8. จังหวัดชลบุรี จำนวน 5 แห่ง ที่ตำบลท่าเทววงษ์ อำเภอเกาะสีชัง (1) วัดถ้ำยายปริก (2) สนามฟุตบอล หมู่ 1 (3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 262 หมู่ 60 (4) หาดถ้ำพัง หมู่ 3 (5) ศาลาบ่อน้ำ หมู่ 3 ตำบลท่าเทววงษ์
9. จังหวัดเชียงราย จำนวน 1 แห่ง ที่บ้านหินแตก ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง
10. จังหวัดพัทลุง จำนวน 1 แห่ง ที่บ้านเขาคราม หมู่ 10 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์
11. จังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 1 แห่ง ที่ อบต.วังปลาป้อม อำเภอนาวัง
12. จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 1 แห่ง ที่ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค
13. จังหวัดปัตตานี จำนวน 1 แห่ง ที่ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง
14. จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 แห่ง ที่ ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า
1) หอเตือนภัยที่ส่งสัญญาณดังนั้นเป็นหอขนาดใหญ่ที่รับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้กดส่งสัญญาณเตือนภัยทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ออกไปแต่อย่างใด เนื่องจากการเข้าใช้ระบบการส่งสัญญาณเตือนภัยนั้นต้องมีการเข้ารหัส 2 ชั้น จึงจะสามารถกดปุ่มส่งสัญญาณไปยังหอเตือนภัยได้ และความผิดปกติกรณีนี้เป็นเหตุที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
2) จากการตรวจสอบอุปกรณ์เบื้องต้น บริษัทผู้ดูแลระบบได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหอเตือนภัยบางแห่ง ไม่พบความผิดปกติของอุปกรณ์ และจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทุกหอเตือนภัยที่มีเสียงสัญญาณดังขึ้นต่อไป และจากการตรวจสอบบันทึกการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ (Log File) ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
3) ปภ.ได้ให้บริษัทผู้ดูแลระบบการแจ้งเตือนภัยทำการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ ซึ่งบริษัทได้ประสานไปยังผู้ให้บริการดาวเทียมที่อยู่ต่างประเทศเพื่อตรวจสอบข้อมูลการรับ-ส่งสัญญาณไปยังดาวเทียม ซึ่งจะได้รับรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องในวันพรุ่งนี้ (28 เมษายน 2566)
4) ปภ.ได้ประชุมเร่งด่วนกับจังหวัดและศูนย์ ปภ.เขต ที่มีหอเตือนภัย และได้แจ้งให้ ปภ.จังหวัดและศูนย์ ปภ.เขตในพื้นที่ที่หอเตือนภัยส่งสัญญาณลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความตื่นหนกของประชาชนในพื้นที่
5) สำหรับการปฏิบัติงานของระบบแจ้งเตือนภัยในส่วนกลาง ปภ.ได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบการเข้าใช้ระบบของหอเตือนภัยว่ามีความผิดปกติจากภายนอกหรือไม่
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ต้องขออภัยประชาชนในพื้นที่กับกรณีที่เกิดขึ้น และจะได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง สาเหตุ และแก้ไขข้อบกพร่องให้เร็วที่สุด และขอขอบคุณนายอำเภอ ผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและอาสาสมัครต่างๆ ในพื้นที่ ที่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ในช่วงที่มีเสียงสัญญาณเตือนภัยเกิดขึ้น