เช็กพื้นที่ 5 จว. อุณหภูมิสูงมากกว่า 43 องศาฯ คาดอากาศร้อนจัดถึงสิ้นฤดูร้อน

เช็กพื้นที่ 5 จว. อุณหภูมิสูงมากกว่า 43 องศาฯ คาดอากาศร้อนจัดถึงสิ้นฤดูร้อน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก ลำปาง เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี มีอุณหภูมิสูงที่สุดในระดับอันตรายมาก แนะนำประชาชนป้องกันความเสี่ยงจากความร้อน โดยเช็กสภาพอากาศอุณหภูมิสูงสุดควบคู่ค่าดัชนีความร้อน เพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่ผ่านมา ในเดือนเมษายน 2566 พบว่าภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และตะวันออก มีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในระดับมี อันตราย - อันตรายมาก โดยจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 43 องศาเซลเซียส (ระดับอันตรายมาก) คือ ตาก ลำปาง เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี รวมทั้งค่าดัชนีความร้อน พบว่าอยู่ในระดับอันตรายมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และภูเก็ต โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสภาพอากาศที่ร้อนจัดนี้ จะมียาวนานไปจนถึงช่วงเดือนต้นเดือนพฤษภาคม 2566 และจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566
 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนเช็กสภาพอากาศเป็นประจำ ซึ่งสามารถตรวจสอบอุณหภูมิสูงสุดควบคู่กับค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ได้จากกรมอุตินิยมวิทยา เนื่องจากอากาศร้อนจัดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยค่าดัชนีความร้อนจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าอุณหภูมิที่วัดได้จริง มาจากการคำนวณค่าอุณหภูมิและค่าความความชื้นสัมพัทธ์ ทำให้ร่างกายจะรู้สึกว่าอากาศร้อนอบอ้าวกว่าปกติคล้ายกับลักษณะก่อนฝนจะตก เพราะบรรยากาศมีความชื้นสูง ประกอบกับการสะสมความร้อน ทำให้อากาศบริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ที่สำคัญเมื่อความชื้นในอากาศสูง จะมีผลทำให้การระเหยน้ำในร่างกายต่ำลง ร่างกายจึงไม่สามารถระบาย  ความร้อนผ่านเหงื่อออกทางรูขุมขน ที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคฮีสโตรก คือ ภาวะ Classic heatstroke or Non-exertional heatstroke เกิดจากการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง แล้วทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงตาม มักพบ  ในคนที่อยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนและชื้นเป็นเวลานาน และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ Exertional heatstroke เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจากการทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง เกิดได้ง่ายขึ้น ในคนที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน

ทั้งนี้ โรคฮีสโตรกยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีโอกาสเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ง่าย เช่น อายุที่น้อยหรือมากเกินไป มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน ไม่ได้ออกกำลังกาย การใช้ยาบางกลุ่มที่ทำให้สูญเสียน้ำ หรือร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น การป้องกันตัวเองจากความร้อนและโรคฮีทสโตรก คือ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด ทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ 

สังเกต 4 อาการเสี่ยงจากโรคฮีทสโตรก

1. เหงื่อไม่ออก

2. สับสนมึนงง

3. ตัวร้อนจัด

4. ผิวหนังเป็นสีแดงและแห้ง

หากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก ควรรีบตามแพทย์ หรือโทร 1669 และพาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องมีความเย็น จัดผู้ป่วยให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง รวมถึงถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทั้งนี้ สามารถรับคำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ที่เว็บไซต์ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย