กรมชลประทาน เตรียมรับมือ 'พายุฤดูร้อน' อ่างเก็บน้ำพร้อมรองรับเต็มศักยภาพ
กรมชลประทาน สั่งการโครงการชลประทาน เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือนจะเกิดพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในระยะนี้
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมี"พายุฤดูร้อน"เกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ นั้น
กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยให้บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือจากสถานการณ์ได้ทันที บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้โครงการชลประทาน ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม หากฝนตกลงมาในบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำย่อมส่งผลดีในการเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น สำรองไว้ใช้หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม นี้ โดยกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด