กยท. พลิกโฉมตลาดประมูลยาง สู่ Digital Platform เชื่อมตลาดกลางผ่าน Thai Rubber Trade
กยท. เดินหน้าพัฒนาตลาดยางพาราสู่ Digital Platform นำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ในการซื้อขายประมูลยางพารา เชื่อมโยงข้อมูลตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่ง และตลาดเครือข่ายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศแบบ Real Time มั่นใจช่วยสร้างราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ซื้อขาย รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาผลผลิตยางได้สอดรับกฎระเบียบนำเข้ายางของ EU
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform ผ่านระบบ Thai Rubber Trade โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการซื้อขายประมูลยางพารา ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง และตลาดเครือข่ายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้นำเทคโนโลยี Block chain มาใช้ในการทำธุรกรรมเพื่อเพิ่มความโปร่งใส แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ และมีระบบตรวจสอบการโอนเงิน ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชี สามารถทำสัญญาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วย Smart Contract
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 กยท.จะนำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ในการซื้อขายยางของ สำนักงานตลาดกลางยางพารา กยท. เป็นการนำร่องก่อน 4 แห่ง คือ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย สำนักงานตลาดกลางจังหวัดหนองคาย สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง หลังจากนั้นจะขยายผลนำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ในการซื้อขายยางของสำนักงานตลาดกลางยางพาราในพื้นที่ภาคใต้อีก 4 แห่งคือ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา เพื่อให้ครบทั้ง 8 แห่งภายในเดือนกันยายน 2566
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. เปิดเผยว่า ระบบ Thai Rubber Trade เป็นระบบซื้อขายยางที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ระบบการซื้อขายยางด้วยวิธีการประมูลของ กยท. ให้เป็น Digital Platform ซึ่งมีการพัฒนาระบบใช้งานผ่าน Mobile Platform และ Web Application ช่วยลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม และบริหารจัดการข้อมูลการซื้อขายยางทั้งหมดแบบ Real Time ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อยางที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามความต้องการได้จากทุกตลาดกลางยางพาราและตลาดเครือข่าวทั่วประเทศ
ทั้งนี้การนำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ซื้อขายยางเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบตลาดยางพาราของ กยท. ที่ช่วยสร้างราคาที่เป็นธรรม อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสขยายช่องทางการตลาดให้เกษตรกรชาวสวนยาง นอกจากนี้เทคโนโลยี Block chain ที่นำมาใช้ในระบบ Thai Rubber Trade ยังรองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้ สอดคล้องกับกฎระเบียบของ EU (EUDR : EU Deforestation-free Regulation) ที่กำหนดให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์จากยางจะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพาราที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม
“การซื้อขายยางผ่านระบบตลาดกลางของ กยท. ต้องลงทะเบียนสมาชิกทั้งผู้ซื้อและผู้ขายยาง กยท. สามารถเชื่อมโยงทะเบียนสมาชิกผู้ขายกับทะเบียนเกษตรกร จึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังพื้นที่สวนยางที่เป็นแหล่งผลิตได้อย่างถูก” ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวในตอนท้าย