กรมบัญชีกลาง ปรับปรุงเบิกจ่าย ค่ารักษารังสีรักษา เพิ่มจาก 30 เป็น 50 รายการ
กรมบัญชีกลาง ได้ปรับปรุงอัตราค่าบริการสาธารณสุข เพื่อให้ข้าราชการ และครอบครัว สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กลุ่มตรวจวินิจฉัยและรักษาทางรังสีวิทยา และ บริการรังสีรักษา ได้เพิ่มจาก 30 รายการเป็น 50 รายการ เริ่ม 1 มิ.ย. นี้
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์มีการพัฒนาไปจากเดิมมาก ดังนั้น เพื่อให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กรมบัญชีกลางจึงได้ปรับปรุงอัตราค่าบริการสาธารณสุข เพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ หมวดที่ 8 ค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาทางรังสีวิทยา ด้านค่าบริการรังสีรักษา
คณะทำงานพิจารณากำหนดรายการ และ อัตราค่าบริการสาธารณสุข เพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักสารสนเทศบริการสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
พิจารณาปรับปรุงและเพิ่มรายการที่จำเป็น รวมทั้งเพิ่มอัตราค่าบริการรังสีรักษา จากเดิม 30 รายการ ปรับเพิ่มเป็น 50 รายการ เช่น ค่าบริการการฉายรังสีโปรตอน ค่าบริการการฉายรังสีอิเล็กตรอน ค่าบริการการฉายรังสีแบบรังสีร่วมพิกัด และค่าบริการการฉายรังสีแบบ 4 มิติ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้มากขึ้น
ทั้งในกรณีเข้ารับบริการรังสีรักษา ในสถานพยาบาลของทางราชการ และ กรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการรังสีรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน (สถานพยาบาลของทางราชการมีความจำเป็นต้องส่งผู้ป่วยโรคมะเร็งไปเข้ารับบริการรังสีรักษาเป็นครั้งคราวในสถานพยาบาลของเอกชน) ทั้งนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับค่าบริการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02 127 7000 ต่อ 6850 หรือ 6851 ในวันและเวลาราชการ หรือสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล/กฎหมายระเบียบและหนังสือเวียน (สวัสดิการรักษาพยาบาล)” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว