รู้จัก 'บ้านสุขาวดี' คฤหาสน์ริมทะเล จบตำนานสถานที่เที่ยวดัง
"บ้านสุขาวดี" คฤหาสน์ริมทะเล แลนด์มาร์คท่องเที่ยวพัทยา ในวันที่รุ่งเรืองสู่วันที่ถูกรื้อ จบตำนานสถานที่เที่ยวดัง หลังยื้อนานกว่า 10 ปี
บ้านสุขาวดี เป็นคฤหาสน์ริมทะเลของ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ หรือ เจ้าสัวสหฟาร์ม ประธานกรรมการบริษัท สหฟาร์ม และในเครือ ผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของไทย แนวคิดการสร้างบ้านสุขาวดีสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2543 เพราะช่วงเวลานั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ธุรกิจน้อยใหญ่ล้มละลาย ต่างชาติยึดธุรกิจของคนไทย ด.ร. ปัญญา สร้างคฤหาสน์อันหรูหรานี้ท่ามกลางความร่วมแรงร่วมใจของทีมงานหลายร้อยชีวิต เพื่อแสดงให้ว่าคนไทยมีความสามัคคีกลมเกลียว มีศักยภาพและศักดิ์ศรีไม่แพ้ต่างชาติ
ข่าวอัปเดต
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทหลักกิโลเมตรที่ 129 สร้างบนเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ และมีหาดยาว 400 เมตร มีอาคารขนาดใหญ่หลายหลังเป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ตกแต่งภายนอกด้วยโทนสีชมพูและสีฟ้า ตั้งเด่นเป็นสง่าสวยงามตระการตาให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่น้อยสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ต้องมาแวะเวียนไม่ขาดสาย และเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรุ่งโรจน์ของ ดร.ปัญญา
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2563 เกิดเหตุเพลิงไหม้ บ้านสุขาวดี ภายในอาคารพุทธบารมีสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกา ที่อัญเชิญมาประดิษฐานให้นักท่องเที่ยวกราบไหว้ อีกทั้งยังมีพรมขนสัตว์ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท มีพื้นที่รับรองแขกด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นล็อบบี้ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด โดย บ้านสุขาวดีได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัททิพยประกันภัยมูลค่าทั้งโครงการ 2,000 ล้านบาท
- "บ้านสุขาวดี" ในวันที่รุ่งเรืองสู่วันที่ถูกรื้อ
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 จากกรณีที่เมืองพัทยา ลงพื้นที่ปิดหมายประกาศตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แบบ ค.3, ค.4, ค.7 และ ค.10 ในอาคาร 3 หลังภายในบ้าน “บ้านสุขาวดี” ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังพบว่าอาคารเหล่านี้บุกรุกที่สาธารณะและมีการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งอาคารที่มีการก่อสร้างยังไม่ได้เว้นระยะตามแนวร่นจากระดับน้ำทะเลในระยะ 20 เมตร ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นการดำเนินงานใหม่ในรอบที่ 2 หลังออกประกาศคำสั่งในครั้งแรกไปแล้ว แต่ทางบ้านสุขาวดี ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวัดชลบุรี กระทั่งมีการพิจารณาว่าประกาศคำสั่งเมืองพัทยายังไม่ครบองค์ประกอบ และเหตุผลในการรื้อถอนไม่ครบถ้วนจึงให้มีการดำเนินการออกคำสั่งใหม่นั้น
สำหรับอาคาร A ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างอยู่บนพื้นที่ดินสาธารณะขนาด 11 ไร่ 1 งาน โดยสร้างอาคารเป็นโครงเหล็ก 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง และป้ายโฆษณาจำนวน 2 ป้าย แต่ผู้ถูกฟ้องให้เหตุผลว่า อาคารดังกล่าวตั้งอยู่พื้นที่งอกตามธรรมชาติ แต่เมืองพัทยามั่นใจว่าจากแนวเขตการรังวัดและภาพถ่ายทางอากาศเป็นการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอย่างแน่นอน จึงเป็นข้อพิพาทเพื่อรอผลการตรวจสอบ ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองเป็นการชั่วคราว กระทั่งที่สุดศาลก็มีคำสั่งยกเลิกการคุ้มครองแล้ว เมืองพัทยาจึงเร่งเข้ามาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย