ถวายตำแหน่ง 'ตรีปิฏกอาจารย์' แด่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ รูปที่ 2 ของโลก
สถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย มีมติถวายตำแหน่ง "ตรีปิฏกอาจารย์" (ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฏก) แด่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) นับเป็นองค์ที่ 2 ของโลก
สถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงในด้านการสอนภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาอังกฤษ และพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์ และชาวพุทธจากทั่วโลก ได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนยังสถานบันอุดมศึกษาดังกล่าว ได้มีมติถวาย ตำแหน่ง "ตรีปิฎกอาจารย์" แด่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ป.ธ.9 วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม
โดยตำแหน่ง "ตรีปิฎกอาจารย์" นี้ หมายถึง ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นองค์ที่ 2 ของ โลก
ส่วนรูปแรก คือ ท่านพระถังซำจั๋ง หรือ พระภิกษุ เสวียนจั้ง (ประเทศจีน)
เรื่องราวนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) วัดห้วยปลากั้ง จังหวัดเชียงราย ที่ได้มีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พระไพศาลประชาทร วิ.
ประวัติ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2481 ที่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร
การศึกษาพื้นฐาน
พ.ศ. 2488-2490 ประถมศึกษา ที่ ร.ร. ชัยศรีประชาราษฎร์
พ.ศ. 2491-2493 มัธยมศึกษา ที่ ร.ร. มัธยมวัดปทุมคงคา (ได้รับทุนเรียนดี ของกระทรวงศึกษาธิการ)
การศึกษาในวิถีบวชเรียน
พ.ศ. 2494,10 พ.ค. บรรพชา ที่วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ โดยมีพระครูเมธีธรรมสาร เป็นอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2495 ไปอยู่วัดปราสาททอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เรียนพระปริยัติธรรมต่อ และเข้าฝึกวิปัสสนา
จบแล้ว พระอาจารย์ชวนไปอยู่ประจำในสำนักวิปัสสนา แต่อาพาธจึงไปไม่ได้
พ.ศ. 2496 มาอยู่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2494-2496 สอบได้ น.ธ. ตรี โท เอก
พ.ศ. 2497-2504 สอบได้ ป.ธ.3 – 9 ขณะยังเป็นสามเณร
พ.ศ. 2504,24 ก.ค. อุปสมบท ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พ.ศ. 2505 สอบได้ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2506 สอบได้วิชาชุดครู พ.ม.
สมณศักดิ์
พ.ศ. 2512 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
พ.ศ. 2516 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี
พ.ศ. 2530 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที
พ.ศ. 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2559 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ปาพจนดิลกวรานุศาสน์ อารยางกูรพิลาสนามานุกรม คัมภีรญาณอุดมวิศิษฏ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี
กิตติประกาศ
วุฒิฐานะ
พ.ศ. 2524 เป็น Research Fellow in World Religions, Faculty of Divinity, Harvard University
พ.ศ. 2538 ประกาศวุฒิคุณเป็น ตรีปิฏกาจารย์ Navanalanda Mahavihara ประเทศอินเดีย
พ.ศ. 2538 ประกาศเชิดชูเกียรติเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม”จาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2539 เป็น Honorary Fellow, The Royal College of Physicians of Thailand
พ.ศ. 2544 เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2547 เป็น เมธาจารย์ (Most Eminent Scholar) มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก (World Buddhist University)
พ.ศ. 2549 เป็น ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2560 ประกาศสดุดีเป็น ผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พ.ศ. 2562 เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม
ประกาศเกียรติคุณและรางวัล
พ.ศ. 2525 ประกาศเกียรติคุณ ในฐานะ ผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ในการฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. 2525 รางวัลวรรณกรรมชั้นที่ 1 ประเภทร้อยแก้ว สำหรับงานนิพนธ์ พุทธธรรม จากมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ
พ.ศ. 2532 พระราชทานโล่รางวัล “มหิดลวรานุสรณ์”
พ.ศ. 2532 โล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษา ในวาระครบรอบ 20 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2533 รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พ.ศ. 2537 รางวัล “การศึกษาเพื่อสันติภาพ” จาก ยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)
พ.ศ. 2541 รางวัล TTF Award สาขาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา สำหรับผลงานทางวิชาการดีเด่น หนังสือ การพัฒนาที่ยั่งยืน จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๔๔ รางวัล “สาโรช บัวศรี ปราชญ์ผู้ทรงศีล” จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. 2550 เป็น “ศิษย์เก่าดีเด่นเกียรติคุณ” ของ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2552 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ถวายประกาศเกียรติคุณ เป็น ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย
พ.ศ. 2555 เกียรติคุณสดุดี “พระสงฆ์ดีเด่นประจำปี” จาก ศูนย์ประสานงานองค์การเอกชนจังหวัดนครปฐม
พ.ศ. 2555 รางวัล “ศาสตรเมธี” จาก มูลนิธิศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
พ.ศ. 2555 โล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เจริญพระชนมายุ 99 พรรษา
พ.ศ. 2556 หนังสือ พุทธธรรม ได้รับรางวัล “TTF AWARD เกียรติยศ ประจำปี 2556”
พ.ศ. 2556 รางวัล “บุคคลเกียรติยศของสมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย ประจำปี 2556”
พ.ศ. 2558 รางวัล “100 ปี ชาตกาล หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก”
พ.ศ. 2559 โดยประกาศคุรุสภา เป็น “ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2560”
พ.ศ. 2560 รางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์” (Human Resource Excellence Award) ในโอกาสครบรอบ 36 ปี การสถาปนาสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2562 รางวัล “นราธิปพงศ์ประพันธ์” จาก สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. 2525 พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2529 ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2529 ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาหลักสูตรและการสอน) มหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2530 ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์-การสอน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2531 อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2531 ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาภาษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533 การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญาการศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. 2536 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ. 2537 ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พ.ศ. 2538 อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จริยศาสตร์ศึกษา) มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2541 วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. 2544 ศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาพุทธศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2545 ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาพระพุทธศาสนา) สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
พ.ศ. 2545 ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาการบริหารองค์กร) มหาวิทยาลัยศรีปทุม
พ.ศ. 2552 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา) มหาวิทยาลัยบูรพา
พ.ศ. 2552 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร
พ.ศ. 2552 นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พ.ศ. 2553 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนาทรัพยากรมนุษย์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
พ.ศ. 2554 ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
พ.ศ. 2561 ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
งานเผยแผ่ธรรม
- เผยแผ่ธรรม-วิชาความรู้
พ.ศ. 2505-2507 สอนในแผนกบาลีเตรียมอุดมศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2507-2517 สอนชั้นปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2507-2517 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ และต่อมา เป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2515-2519 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์
พ.ศ. 2515 บรรยาย "พุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทย" ที่ University Museum, University of Pennsylvania
พ.ศ. 2519-2521 บรรยายวิชาพระพุทธศาสนา ที่ Swarthmore College, Pennsylvania
พ.ศ. 2524 เป็น Visiting Scholar ที่ Center for the Study of World Religions, บรรยายวิชาพระพุทธศาสนาที่ Divinity Faculty และ Arts Faculty, Harvard University
พ.ศ. 2537-ปัจจุบัน เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม
นอกจากหนังสือหลักที่ตั้งใจเขียนแล้ว เรื่องที่ได้รับนิมนต์ให้บรรยาย ปาฐกถา และธรรมเทศนา ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ก็มีผู้ขอนำไปพิมพ์เป็นหนังสือแจกจ่ายกว้างออกไป ทำให้เกิดงานนิพนธ์เป็นเล่มหนังสือมากมาย (นับถึงปี 2550) กว่า 327 เรื่อง นอกจากนี้ มี CD ธรรม ที่จัดทำเผยแพร่ในระบบ MP3 จำนวนมาก
อีกด้านหนึ่ง นับแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ได้รับนิมนต์เป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดทำ พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ซึ่งสำเร็จสมบูรณ์เป็นฉบับแรกของโลก
ขอบคุณข้อมูล : พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) วัดห้วยปลากั้ง จังหวัดเชียงราย, วัดญาณเวศกวัน