รพ.จุฬาฯ แจง ไม่มีการใช้ 'โมเลกุลมณีแดง' ในผู้ป่วย
คณะแพทยฯ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาฯ ย้ำยังไม่มีการเริ่มการศึกษาวิจัยสําหรับการใช้สาร "โมเลกุลมณีแดง" (RED-GEMS) ในมนุษย์ อยู่ระหว่างเสนอขอวิจัยในมนุษย์
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกหนังสือชี้แจงกรณีข่าวการใช้โมเลกุลมณีแดง (RED-GEMs) ในผู้ป่วย
โดยระบุว่า โมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules) เป็นสารที่มีการพัฒนาและนำมาศึกษาโดยคณะผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้มีการนำมาทดลองในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง และมีข้อมูลที่แสดงว่าอาจสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าที่ได้จากการวัด ซึ่งอาจเป็นตัวแทนของอายุเซลล์ หรือความชราได้
ทางผู้วิจัยกำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอขอให้คณะกรรมการจริยธรรมงานวิจัยในมนุษย์พิจารณาเพื่อนําสาร RED-GEMS มาศึกษาในมนุษย์ แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้สารนี้ในการศึกษาในมนุษย์ เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงขอแจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเริ่มการศึกษาวิจัยสําหรับการใช้สาร RED-GEMS ในมนุษย์ จนกว่าจะได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และไม่สนับสนุนหรืออนุญาตให้มีการใช้สาร RED-GEMs ในมนุษย์หรือผู้ป่วย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ การมีข้อมูลว่ามีผู้ป่วยได้รับ RED-GEMs นั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ขอยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด ไทย และจะมีการดำเนินการหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม และเกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยสูงสุดต่อไป
จึงขอแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย