รู้เรื่อง "บันไดเลื่อน" เช็กที่นี่ จุดไหนอันตราย จุดไหนปลอดภัย ปุ่มฉุกเฉิน

รู้เรื่อง "บันไดเลื่อน" เช็กที่นี่ จุดไหนอันตราย จุดไหนปลอดภัย ปุ่มฉุกเฉิน

ความรู้เรื่อง "บันไดเลื่อน" จุดไหนอันตราย จุดไหนปลอดภัย ที่กำลังถูกเป็นที่พูดถึงทางสังคม จากเหตุการณ์ที่ทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสาร ที่สนามบินดอนเมืองจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้นำไปสู่เรื่องราวที่ชาวโซเชียลต่างเตือนภัยต่างๆ

ความรู้เรื่อง "บันไดเลื่อน จุดไหนอันตราย จุดไหนปลอดภัย" ที่กำลังถูกเป็นที่พูดถึงทางสังคมเป็นอย่างมากในตอนนี้ จากเหตุการณ์ที่ทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสาร ที่สนามบินดอนเมืองจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้นำไปสู่เรื่องราวที่ชาวโซเชียลต่างเตือนภัย แชร์ประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเกี่ยวกับทางเลื่อน หรือ บันไดเลื่อน นั้น

เว็บไซต์ช่างมันส์ ได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ บันไดเลื่อน ได้พูดถึงระบบกลไกการทำงาน ส่วนประกอบต่างๆเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ รวมถึง "ปุ่มหยุดฉุกเฉิน" ที่ผู้ใช้บันไดเลื่อนจำเป็นต้องรู้ เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน และจะได้ดำเนินชีวิตแบบไม่ประมาท ไม่ให้เหตุการณ์อันน่าเศร้านี้เกิดซ้ำรอยขึ้นอีก 

 

อุบัติเหตุที่เกิดกับบันไดเลื่อน ที่พบบ่อย มีดังนี้

1.อุบัติเหตุจากการประมาท ไม่จับราวบันไดเลื่อน การปล่อยให้เด็กใช้โดยลำพัง  การวิ่งเล่นบนบันไดเลื่อน เป็นต้น

2. อุบัติเหตุ กรณีบันไดเลื่อนอยู่ชิดกันมาก ผู้ใช้ยื่นร่างกายออกนอกบันไดเลื่อน ดังเกิดอุบัติเหตุบันไดเลื่อนหนีบศีรษะเด็กที่ห้างแห่งหนึ่ง แต่ทั้งนี้มาตรฐานการติดตั้งบันไดเลื่อนบอกไว้ว่าการติดตั้งบันไดเลื่อนห้ามชิดกันเกิน 50 เซนติเมตร ถ้าชิดกันมากกว่านั้นต้องมีการป้องกัน และเตือน หรือมีแนวป้องกัน

 

วิธีการสังเกตง่ายๆว่า "บันไดเลื่อน" ได้รับการบำรุงรักษาดีหรือไม่

ให้สังเกตตรงซี่และหวีบันได ว่าทุกซี่ต้องไม่แตกหัก เพราะ 2 ส่วนนี้เป็นส่วนที่สังเกตเห็น และตรวจพบได้ง่าย หากมีการดูแลรักษาอย่างดี ก็จะไม่มีลักษณะดังกล่าว

สำหรับ บันไดเลื่อน ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดถูกดูแลเป็นอย่างดี มีการบำรุงรักษาอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะส่วนเซ็นเซอร์ (Sensor) อัตโนมัติที่จะทำงานให้บันไดเลื่อนหยุดทำงานเอง

โดยปกติ นอกจากปุ่มฉุกเฉินที่ไว้กด สำหรับให้บันไดเลื่อนหยุดทำงาน ในกรณีที่มีเหตุแล้ว ในชุดอุปกรณ์บันไดเลื่อนเองก็ยังมีเซ็นเซอร์ที่จะทำงานอัตโนมัติ เพื่อให้บันไดเลื่อนหยุด เช่น

- กรณีที่ขั้นบันไดมีการสะดุด เซ็นเซอร์ก็จะทำงานให้บันไดเลื่อนหยุดอัตโนมัติ

- กรณีมีการกระแทก หรือกรณีที่มีคนกดปุ่มฉุกเฉิน บันไดเลื่อนก็จะต้องหยุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เปิดโพสต์ลูกชายเหยื่อทางเลื่อนดอนเมือง นาทีเจอ จนท.ถือกล่องโฟมใส่ขาแม่

- อุทาหรณ์ เชือกรองเท้าติดบันไดเลื่อนสนามบิน ตัดพ้อ จนท.ไม่ช่วยเหลือ

- ย้อน 2 เหตุการณ์ในอดีต ทางเลื่อน บันไดเลื่อนดอนเมืองดูดผู้โดยสาร หวิดขาขาด

 

ซึ่งในการตรวจสอบบันไดเลื่อนนั้น ผู้ตรวจสอบต้องทำการตรวจเซ็นเซอร์ฉุกเฉินเหล่านี้  และควรฝึกให้พนักงานที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ กับบันไดเลื่อนนั้นฝึกการใช้ ปุ่มฉุกเฉินว่ากดอย่างไร

 

กลไกการทำงานของ บันไดเลื่อน หรือ ทางเลื่อน

โดย 2 อย่างนี้ มีการทำงานที่เหมือนๆกัน และมีองค์ประกอบเหมือนกัน คือ

1.ห้องเครื่อง หรือเรียกว่า Machine room จะอยู่ด้านปลายทั้งสองด้านของบันไดเลื่อน ในส่วนนี้จะประกอบด้วย "เฟือง" ที่ขับสายพานให้หมุนไป และก็จะมีมอเตอร์ที่ทำให้เฟืองเคลื่อนที่ ซึ่งจะอยู่ทางด้านบนของบันไดเลื่อน 

โดยที่ส่วนของมอเตอร์และเฟืองนั้นจะอยู่ใต้แผ่นเหล็ก ที่รับน้ำหนักได้มาก เช่น อาจมากถึง 500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และก็แผ่นเหล็กนี้วางพาดอยู่บนโครงสร้างอีกที คล้ายๆกับฝาปิดท่อระบายน้ำ

2.โครงสร้างของบันไดเลื่อน เป็นตัวรับน้ำหนักของขั้นบันไดและตัวบันไดเลื่อน รวมถึงน้ำหนักของผู้โดยสารที่ใช้บันไดเลื่อน

3.รางเลื่อน ชุดโซ่ และขั้นบันได ส่วนนี้จะเป็นเหมือนขั้นบันได เวลามันอยู่นิ่งๆไม่เคลื่อนที่ ผู้สัญจรก็สามารถเดินบนขั้นบันไดเหล่านี้ได้ แต่ต่างจากขั้นบนไดปกติ ตรงที่จะมีฟันในแต่ละขั้น ที่จะทำให้ขั้นเหล่านี้เคลื่อนอยู่ในทางของมัน

4.ที่จับ หรือ ราวจับ (Hand rail) เอาไว้เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร ส่วนที่จับจะเคลื่อนไปพร้อมๆกับส่วนของบันได เนื่องจากทุกชิ้นส่วนอยู่บนชุดขับเคลื่อนเดียวกัน 

 

รู้เรื่อง \"บันไดเลื่อน\" เช็กที่นี่ จุดไหนอันตราย จุดไหนปลอดภัย ปุ่มฉุกเฉิน

 

ใช้บันไดเลื่อนอย่างไรให้ปลอดภัย

  • การขึ้น-ลงบันไดเลื่อน  มองจังหวะการเคลื่อนตัวของบันไดเลื่อน พร้อมก้าวเท้าขึ้นบันไดเลื่อนให้พอดีกับขั้นบันได
  • ไม่วางบนเท้าบนเส้นสีเหลือง เพราะเป็นตำแหน่งของขั้นบันไดที่แยกออกจากกัน ทำให้เสียการทรงตัวและหกล้มได้
  • ตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย พร้อมยกชายผ้าให้พ้นระดับพื้น รวมถึงผูกเชือกรองเท้าให้แน่น เพื่อป้องกันมิให้ชายผ้าเข้าไปติดในช่องหรือซี่ร่องบันไดเลื่อน ทำให้ได้รับอันตราย
  • จัดเก็บไม้ค้ำยัน ไม้เท้า หรืออุปกรณ์ช่วยเดินอื่นๆให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม หากมีรถเข็นควรใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อนสำหรับรถเข็น เพราะล้อรถเข็นอาจลื่นไถลหรือสะดุดกับพื้นต่างระดับของบันไดเลื่อน ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงจัดล้อรถเข็นให้เข้าที่ เพื่อป้องกันรถเข็นเคลื่อนตัวไปชนผู้อื่นเตรียมพร้อมที่จะก้าวเท้าออกจากบันไดเลื่อน
  • ไม่หยอกล้อกัน หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ ควรก้าวเท้าก่อนถึงบันไดเลื่อนขั้นสุดท้าย รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังขณะก้าวเท้า เพื่อป้องกันการสะดุดล้มหรือชนผู้ที่อยู่ด้านหลัง
  • ขณะยืนบนบันไดเลื่อน จับราวบันไดเลื่อนให้มั่น จะช่วยป้องกันการเสียการทรงตัวและควรยืนชิดด้านขวา เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับผู้ที่เดินขึ้น-ลง บันไดเลื่อน
  • ไม่วางสิ่งของบนบันไดเลื่อน เพราะเศษวัสดุอาจเข้าไปเกี่ยวในซี่ร่องบันไดเลื่อน หากถือสิ่งของทั้งสองมือ ควรเปลี่ยนมารวมไว้ในมือเดียว เพื่อให้สามารถจับราวบันไดเลื่อนได้สะดวก หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย  เช่น ยืนพิงกับขอบด้านข้างของบันไดเลื่อน นั่งราวจับของบันไดเลื่อน นั่งบนบันไดเลื่อน ยื่นศีรษะ หรือลำตัวออกนอกราวจับของบันไดเลื่อน ยื่นเท้าชิดขอบข้างของบันไดเลื่อน เป็นต้น เพราะอาจได้รับอันตรายได้

 

ข้อควรระวังในการใช้บันไดเลื่อน

  • ไม่ใช้บันไดเลื่อนในการขนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก เพราะบันไดเลื่อนอาจรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้เกิดอันตรายได้
  • ไม่ขึ้นหรือลงทวนการเคลื่อนตัวของบันไดเลื่อน เช่น ขึ้นบันไดที่เลื่อนลง หรือลงบันไดที่เลื่อนขึ้น เป็นต้น เพราะอาจสะดุดล้ม
  • กรณีบันไดเลื่อนไม่ทำงาน ควรงดใช้บันไดเลื่อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ควรสวมรองเท้าหุ้มส้นที่มีพื้นแข็งเสมอกัน เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม เพิ่มความระมัดระวังในการสวมรองเท้าส้นสูงขณะขึ้น – ลงบันไดเลื่อน
  • เมื่อใกล้ถึงปลายทางบันไดเลื่อน ให้รีบก้าวเท้าข้ามบันไดเลื่อนขั้นสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกบันไดเลื่อนหนีบ กรณีรองเท้าเข้าไปติดในซี่ร่องบันไดเลื่อน ให้รีบถอดรองเท้าออกทันที

 

อ้างอิงจาก 

เว็บไซต์ช่างมันส์

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

สสส.