ถ้ำหลวง จ่อปิดชั่วคราว 16 ก.ค-30 ก.ย.นี้ เลี่ยงอันตรายจากฝน

ถ้ำหลวง จ่อปิดชั่วคราว 16 ก.ค-30 ก.ย.นี้ เลี่ยงอันตรายจากฝน

ถ้ำหลวงเปิดให้ชมถึง16 กรกฏาคมนี้ ก่อนปิดยาวถึง 30 กันยายน เลี่ยงอันตรายจากฝน ระดมผู้เกี่ยวข้อง-หมอภาคย์เสวนาใหญ่ในโถงถ้ำ ดันเป็นมรดกอาเซียน

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 บรรยากาศการท่องเที่ยวช่วงหยุดเสาร์อาทิตย์ที่อุทยานแห่งชาติ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังคงมีนักท่องเที่ยวไปเยือนถ้ำหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สร้างอาคารบันทึกเหตุการณ์เป็นถ้ำจำลองเพื่อบอกเล่าเรื่องราวช่วยเหลือ ทีมหมูป่าอะคาเดมี มีศาลาอนุสรณ์สถานที่มีผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องและอนุสาวรีย์จ่าแซมที่สร้างโดยศิลปินนำโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย รวมทั้งมีการพัฒนาถนน ทางเดิน ไฟส่องสว่างและข้อมูลระหว่างทาง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปชมและเข้าชมภายในโถงปากถ้ำถึงโถงถ้ำที่ 1 ได้โดยสะดวก ในความเป็นจริงแล้วระยะทางจากปากถ้ำหลวงถึงเนินนมสาวลึกประมาณ 2,430 เมตร ใช้เวลาเดินไปถึงนานนับวัน แต่เฉพาะโถงที่ 1 ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 ของเหตุการณ์ทั้งหมดก็ได้บรรยากาศแล้วโดยมีความมืดและถ้ำหลวงจะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่นคือไม่มีกลิ่นของมูลค้างคาว อากาศเย็น บรรยากาศชวนให้น่าค้นหา

ส่วนบรรยากาศภายในถ้ำหลวงทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ปรับภูมิทัศน์ติดตั้งแสงไฟส่องสว่างตั้งแต่จุดปากถ้ำไปจนถึงโถง 1 ซึ่งเป็นจุดบัญชาการ และจุดที่ตั้งของทีมแพทย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นลักษณะภายในโถงถ้ำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตครั้งที่เด็กๆทีมหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คนติดอยู่ในถ้ำช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. เมื่อ 2561 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ขณะที่ทางเดินจัดทำเป็นขั้นบันใดขึ้นลงตามเส้นทางพร้อมกับทำราวเหล็กให้นักท่องเที่ยวไว้ถือจับไปตลอดระยะทางเพื่อนความปลอดภัย อีกทั้งตลอดทางเดินค่อนข้างคดเคี้ยว บางช่วงต้องก้มศรีษะลงเนื่องจากพนักถ้ำอยู่ต่ำ บางช่วงก็จะเป็นโถงใหญ่และกว้าง มีทั้งโขดหินน้อยใหญ่เรียงรายไปตลอดทาง และยังมีสายสื่อสาร และอุปกรณ์บางอย่างที่เคยใช้ในการช่วยเหลือ 13 หมูป่า หลงเหลือไว้ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงความยากลำบากในการช่วยเหลือ 13 หมูป่าในครั้งนั้นด้วย ส่วนตามผนังถ้ำยังมีความสวยงามของหินงอกหินย้อยที่งดงามตามธรรมชาติโดยตลอดระยะทาง ประมาณ 200 เมตร สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวที่ได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศภายในถ้ำเป็นอย่างมาก
 

ด้านนายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดงาน "รำลึกครบรอบ 5 ปีกู้ภัยถ้ำหลวง" ในวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.นี้ โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกำหนดเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมจะร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งผา ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 39 รูป พิธีบวงสรวงเจ้าแม่นางนอน และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ กิจกรรมการแสดงความรำลึกถึงผู้เสียสละ ได้แก่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และเคยเป็นผู้บัญชาการในเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คน ที่ติดถ้ำหลวงระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.-10 ก.ค.2561 นาวาตรีสมาน กุนัน (จ่าแซม) ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ เรือโทเบรุต ปากบารา ทหารเรือซึ่งเสียชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้ และนายดวงเพชร พรหมเทพ หรือน้องดอมหนึ่งในสมาชิกทีมหมูป่าที่เสียชีวิตขณะศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
 

นอกจากนี้ยังมีการจัดการแสดงแสง สี เสียง บริเวณโถงถ้ำแรกที่อยู่ปากถ้ำซึ่งมีลักษณะเป็นโถงกว้างขวางและเพดานถ้ำมีความสูง รวมทั้งมีการเสวนาในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงถ้ำหลวงที่เกิดขึ้นหลักจากเกิดเหตุการณ์ค้นหาและกู้ภัย” โดยบุคคลสำคัญเข้าร่วมประกอบด้วยนายจงคล้าย วรพงศธร อดีตรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ พลเรือโทอาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือหรือ หน่วยชีล  พ.อ.นายแพทย์ ภาคย์ โลหารชุน นายแพทย์ใหญ่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นากยกเทศมนตรี ต.แม่สาย พร้อมเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าร่วม

นายชุติเดช กล่าวว่าการเสวนาดังกล่าวยังจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องมาบอกเล่าเหตุการณ์ซึ่งไม่เคยปรากฎที่สื่อไหนมาก่อนว่าเมื่อ 5 ปีก่อนสถานการณ์ที่พวกเขาพบเจอในเหตุการณ์กู้ภัยที่ถ้ำหลวงเป็นอย่างไรจึงขอเชิญชวนผู้สนใจไปร่วมกิจกรรม โดยจะมีการจัดของที่รำลึกที่มีชิ้นเดียวและหาที่ไหนไม่ได้ให้กับผู้ไปร่วมจำนวน 500 ชุด ทั้งนี้ในปัจจุบันถ้ำหลวงได้รับการพัฒนาทั้งด้านทรัพยากรธรณีและการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นักท่องเที่ยวสามาถเข้าชมได้ตั้งแต่โถงปากถ้ำไปจนถึงโถงถ้ำที่ 1 ซึ่งเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นศูนย์บัญชาการช่วยเหลือในเหตุการณ์ปี 2561 และต่อไปจะผลักดันให้เป็นมรดกของอาเซียนต่อไป