'พลายศักดิ์สุรินทร์' กลับบ้าน เผย ศรีลังกาขู่ฟ้องไทยปมช้างประตูผา ศรีณรงค์
ข่าวท้องถิ่นศรีลังกา กรณีนำช้าง 'พลายศักดิ์สุรินทร์' กลับประเทศไทย เผยเตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หากมารับช้าง 2 เชือกกลับประเทศไทย คือ พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา ก็ได้เผยความคืบหน้าของช้าง 2 เชือก ล่าสุด
เฟซบุ๊ก World Forum ข่าวสารต่างประเทศ รายงานข่าวท้องถิ่นศรีลังกาเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 กรณีนำช้าง "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับประเทศไทย เผยเตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หากมารับช้าง 2 เชือกกลับประเทศไทย คือ พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์
นายเนรัญชรา ไวเยรัตเน นักการเมือง ผู้นำฝ่ายค้านอดีตผู้นำผู้ปกครองสำนักงานของหัวหน้าฝ่ายอุปัฏฐาก Sri Dalada Maligawa วัดพระเขี้ยวแก้ว หัวหน้าฝ่ายฆราวาส มีอำนาจหลายอย่างจัดการส่งเสริมเกี่ยวกับวัดในเมืองแคนดี้
นายเนรัญชรา ให้ข้อมูลผ่านสื่อศรีลังกาว่าช้างไทยราชา ได้รับมอบเป็นของขวัญแก่วัดศรีดาลดา มาลิกาวา (วัดพระเขี้ยวแก้ว) จากพระมหากษัตริย์ไทยเมื่อ 37 ปีที่แล้ว มีสุขภาพแข็งแรงดี NGO องค์กรเกี่ยวกับสัตว์ บางรายในศรีลังกากำลังส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปยังรัฐบาลไทยเกี่ยวกับช้าง
หากมีการพยายามนำช้างที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยกลับไปยังประเทศไทยนั้น จะมีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยสำหรับค่าใช้จ่ายในการบำรุง ดูแล รักษาช้างจนถึงปัจจุบัน ช้างได้รับการดูแลอย่างดีจากรุ่นพี่ที่จบทางด้านสัตวแพทย์ศาสตร์ ตั้งแต่รับช้างมาเมื่อ 37 ปีก่อนใช้เงินจำนวนมหาศาลในการดูแล นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่าการขอของขวัญที่มอบให้คืนนั้นผิดจรรยาบรรณ
การแห่พระบรมสารีริกธาตุศักสิทธิ์ แห่พระเขี้ยวแก้ว เปรียบเสมือนการถวายของแก่พระพุทธเจ้า มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่อาจละเลยไม่ได้ NGO องค์กรเกี่ยวกับสัตว์ ที่พึ่งพาเงินจากต่างประเทศกำลังทำงานเพื่อส่งช้าง 2 เชือกกลับประเทศไทย ตามคำกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของไทย ได้กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า หากคนไทยเรียกร้อง พวกเขาพร้อมที่จะนำช้างที่เหลืออีก 2 เชือกกลับไทย เนรัญชรา ไวเยรัตเน กล่าว
ข้าพเจ้าทูลขอต่อพระเจ้าภูมิพลมหาราชาแห่งประเทศไทย ขอให้ถวายลูกช้างแก่ วังดาลดา (วัดพระเขี้ยวแก้ว) คำขอนั้นได้รับมอบช้างในปี 2529 ลูกช้างตัวนี้ถูกนำมาโดยเครื่องบินรบเครื่องบินขนส่งของอเมริกา และได้รับอนุมัติพิเศษจาก เจอาร์ เจวาร์ดีน ผู้นำศรีลังกาในสมัยนั้น ช้างตัวแรก มุทุราชา (พลายศักดิ์สุรินทร์) นั้นได้ส่งกลับถึงประเทศไทยแล้ว องค์กรเกี่ยวกับสัตว์กำลังพยายามจะนำช้างอีก 2 เชือกกลับในปัจจุบัน
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดถึงอาการช้าง "พลายศักดิ์สุรินทร์" ว่ามีความคุ้นเคยกับสภาพรอบด้านมากขึ้น นอกจากนี้สามารถกินอาหาร น้ำ และขับถ่ายได้เป็นปกติ
ประเด็นส่ง "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับศรีลังกา
นายวราวุธ ระบุสั้นๆว่า "พออยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว เรื่องอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง"
พูดถึงช้างอีก 2 เชือก พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะส่งทีมสัตวแพทย์ ไปพร้อมกับ น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในต้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ดูแนวทางความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานของไทย และหน่วยงานของศรีลังกา ในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลช้าง เพราะศรีลังกาเป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยงและช้างป่า อยู่เป็นจำนวนมาก
สอดคล้องกับการที่มีคณะสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่พลายประตูผาอยู่ ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแล และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง
ดังนั้น จากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกาจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
ประเด็นของ "พลายประตูผา"
เป็นเรื่องที่แตกต่างจากพลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะ พลายศักดิ์สุรินทร์ อายุเพียง 30 ปี ยังหนุ่ม ขณะที่พลายประตูผา อายุเกือบ 50 ปีแล้ว ซึ่งสัตวแพทย์มีความเห็นว่า การเคลื่อนย้ายพลายประตูผาข้ามประเทศมีความเสี่ยง และเป็นอันตรายกับตัวช้างเอง
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ให้ประตูผาได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยการทำโครงการความร่วมมือกันระหว่างไทยกับศรีลังกา ในการแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากร เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ซึ่งการทำเช่นนี้จะสามารถแก้ไขปัญหา การดูแลช้างในระยะยาว ในประเทศศรีลังกาได้ และเชื่อว่า จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยคลายความห่วงกังวลต่อช้างไทยที่ยังอยู่ในศรีลังกาได้
"โครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าว อาจมีการทำ MOU ขึ้น ซึ่งต้องให้กรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เป็นผู้ลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศศรีลังกา เพื่อทำความตกลงแลกเปลี่ยน เทคโนโลยี และความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลช้าง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้การดูแลช้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องยาวนาน"
ประเด็นของช้าง "พลายศรีณรงค์"
จากการที่ น.ส. กัญจนา ได้ไปเยี่ยมมาด้วยตัวเองนั้น ก็ยังเห็นว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพปกติดีอยู่ และการเดินทางไปศรีลังกาในต้นเดือนกันยายนนี้ น.ส. กัญจนา ก็จะไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์อีกครั้ง