จับตา! ฝนหนัก 8-11 ก.ค. นี้ สั่งชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชม.
กรมชลประทาน เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ วันที่ 8-11 ก.ค. นี้
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2566 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เรื่องลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดปกคุลมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น นั้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอโขงเจียม , สิรินธร) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม , ธาตุพนม) จังหวัดมุกดาหาร (อำเมืองมุกดาหาร , หว้านใหญ่)
ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา , แกลง , บ้านค่าย และนิคมพัฒนา) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี, ขลุง , เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด , บ่อไร่)
ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ (เกาะลันตา) จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง . ตะกั่วป่า) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง , กะเปอร์) จังหวัดสตูล (อำเภอควนกาหลง , ท่าแพ , ทุ่งหว้า และมะนัง) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง , กันตัง , ย่านตาขาว ,ห้วยยอด วังวิเศษ และหาดสำราญ) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือ โดยติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และกำหนดจุดเสี่ยงพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที