แฮชแท็กเดือด กกต.มีไว้ทำไม เช็กรายชื่อมีใครบ้าง ทบทวนอำนาจหน้าที่

กกต.มีไว้ทำไม แฮชแท็กเดือด เช็กรายชื่อมีใครบ้าง ทบทวนอำนาจหน้าที่

ทบทวนอำนาจหน้าที่ของ กกต.ว่ามีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ภายหลังแฮชแท็กสุดเดือด ณ ขณะนี้ #กกตมีไว้ทำไม ที่ขึ้นมาติดท็อปเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังที่ประชุม กกต. มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปเปิดข้อมูลทบทวนอำนาจหน้าที่ของ กกต.ว่ามีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ภายหลังแฮชแท็กสุดเดือด ณ ขณะนี้ #กกตมีไว้ทำไม ที่ขึ้นมาติดท็อปเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังที่ประชุม กกต. มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ปมถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น itv จำนวน 42,000 หุ้น

นอกจากนี้ กกต. ยังมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้น ซึ่งภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ออกแถลงการณ์ดังกล่าว เรื่องนี้กลายเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

กลายเป็นประเด็นดราม่าในโซเชียลจนเกิดแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม เนื่องจากมติ ดังกล่าวออกมาก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกล ก็ได้ออกแถลงการณ์ตั้งคำถาม กกต. ว่า กกต.ทำผิดขั้นตอน จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนได้ตราขึ้น อันอาจเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่นั้น

ก่อนหน้าน้ กกต. ก็เคยมีประเด็นในช่วงเลือกตั้ง 2566 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม #กกตต้องติดคุก รวมไปถึงในเว็บไซต์ Change.org ได้มีการลงชื่อถอดถอน กกต. ซึ่งมีผู้ลงชื่อมากกว่า 1 ล้านคนด้วยกัน

อ่านแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ด่วน! กกต.เชือด 'พิธา' ส่งศาลรธน.ฟันพ้นส.ส.เหตุถือหุ้นไอทีวี

- ‘ก้าวไกล’ แถลงการณ์สวน กกต.ทำผิดขั้นตอน ชงคดีหุ้น itv ‘พิธา’ ไปศาล รธน.

- 'พิธา' ออกจากที่ประชุมสภา หลัง กกต. ส่งเรื่องหุ้น ITV ให้ศาล รธน. วินิจฉัย

 

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปเปิดข้อมูลทบทวนอำนาจหน้าที่ของ กกต.ว่ามีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

กกต. คืออะไร

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่หลักเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี 

รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้งมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นสำนักงานเลขานุการ

หน้าที่ของ กกต. ทำอะไรบ้าง

กกต. มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 16 ข้อหลักๆ ดังต่อไปนี้ 

1.ควบคุมดูแลและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม

2.ออกระเบียบ ประกาศ ข้อกำหนดทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติงาน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

3.มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นในการเลือกตั้ง

4.ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองตามกฎหมาย

5.ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

6.สืบสวนหรือไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

7.สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง การเลือก การออกเสียงประชามติ และสั่งให้มีการเลือกตั้ง เลือก ออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง

8.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง (ให้ใบเหลือง หรือ ใบแดง) สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราวเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้นั้นกระทำหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริตหรือทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

9.การดำเนินคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง

10.ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ

11.มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่าในเรื่องทางแพ่ง หรืออาญา หรือทางปกครอง แก่ผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนให้ชดใช้ค่าเสียหาย ในการเลือกตั้งใหม่แก่ผู้ถูกใบแดง และผู้ที่เกี่ยวข้อง

12.ส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยฺ์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งและความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

13.การรับรองและการแต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง

14.ดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบุว่าหน้าที่ของ กกต. คือการให้การศึกษาแก่ประชาชนเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

15.จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา

16.ดำเนินการเรื่องอื่นๆตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจ โดยสรุปคือ 

  1. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง ดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และกฎหมายอื่น อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้ง และผู้ตรวจการเลือกตั้ง
  2. ดำเนินการเพื่อให้พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความรู้ความเข้าใจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  3. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือการออกเสียงประชามติ ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง หรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคการเมือง หรือบุคคลอื่นใดเพื่อดำเนินการตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
  4. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

กกต.มีใครบ้าง

สำหรับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 และวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

  1. อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  2. ศาสตราจารย์ ดร. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  3. ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566)
  4. ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  5. เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  6. ดร.ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  7. ชาย นครชัย กรรมการเลือกตั้ง (อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12)

โดยมีนายแสวง บุญมี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง (31 มีนาคม พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน) นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ นายเมธา ศิลาพันธ์ นายกฤช เอื้อวงศ์ นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล เป็นรองเลขาธิการ กกต.

 

อ้างอิงจาก

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

wikipedia

#กกตมีไว้ทำไม