กอนช. ชี้ พายุตาลิม ทำฝนเพิ่มขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่า 24% เน้นย้ำจัดการน้ำสมดุล
กอนช. ให้ความช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมฉับพลันจากอิทธิพลของพายุตาลิมและร่องมรสุม ชี้แม้มีฝนมากขึ้นแต่ทั้งประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติ 24% โดยยังต้องประหยัดน้ำและส่งเสริมการเพาะปลูกรอบเดียว พร้อมย้ำกรมชลประทานใช้อ่างพวงบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล
วันนี้ (19 ก.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กอนช. ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของ "พายุตาลิม" ร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยพื้นที่ที่มีฝนมาก คือ บริเวณชายขอบของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือฝั่งตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออก ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ตอนบนและฝั่งตะวันตก ซึ่งส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ เช่น จ.ระนอง จ.ชุมพร ฯลฯ รวมถึงเกิดเหตุดินสไลด์ในบางแห่ง
ทั้งนี้ กอนช. ได้มีการออกประกาศล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อน 12 มาตรการรับมือฤดูฝน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว
“ปัจจุบันพายุตาลิมซึ่งอยู่บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ได้ลดกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว และจะค่อย ๆ สลายตัวในระยะถัดไป ทั้งนี้ สทนช. ได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ฝนและปริมาณน้ำจากอิทธิพลของพายุและร่องมรสุม คาดว่าจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 66 รวมกว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจะช่วยเติมเต็มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย โดยคาดการณ์อ่างฯ ที่จะมีน้ำไหลเข้าสูงสุด ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ 188 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 108 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริธร 83 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนรัชชประภา 69 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปาว 63 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ของแหล่งน้ำทั่วประเทศ พบว่า มีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำมากที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ รวม 34 แห่ง โดยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คือ 24 แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ โดย กอนช. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และให้พิจารณาอย่างรอบคอบหากต้องมีการระบายน้ำออกไปในลำน้ำ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเด็ดขาด โดยปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการกักเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ท่ามกลางสภาวะเอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนไปถึงปี 2567” ดร.สุรสีห์ กล่าว
ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า กอนช. ได้ติดตามแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ขณะนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงอยู่บริเวณซีกตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีแนวโน้มว่าอาจจะพัฒนากำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนหรือพายุหมุนฤดูร้อน ลักษณะคล้ายกับพายุตาลิม ซึ่ง กอนช. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะมีการให้ข้อมูลรวมถึงแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. และจากการคาดการณ์ พบว่า สัปดาห์นี้ยังคงมีโอกาสที่จะมีฝนตกกระจายหลายพื้นที่ โดยเป็นฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะมีร่องมรสุมที่พาดผ่านในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงในพื้นที่ภาคใต้ จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศ กอนช. เพื่อเฝ้าระวัง ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศยังคงอยูในเกณฑ์น้อย โดยต่ำกว่าค่าปกติ 24% แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่ยังคงมีฝนน้อย โดยยังคงเน้นย้ำความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการประหยัดน้ำ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกพืชรอบเดียว เพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด และได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ใช้อ่างพวงในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความสมดุล เติมเต็มน้ำในอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำน้อย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคเอกชน ในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐเพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญ