อุปทานรัฐสวัสดิการ | ภาคภูมิ แสงกนกกุล
ระบบประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนารัฐสวัสดิการ ซึ่งช่วยให้ประชาชนเปิดโอกาสแสดงอุปสงค์ ความจำเป็นขั้นพื้นฐานหรือความต้องการด้านสวัสดิการสังคมต่อรัฐบาล
ความจำเป็นที่แสดงออกมาดังกล่าว อาจจะไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ ถ้ารัฐบาลมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรเพื่อผลิตอุปทานสวัสดิการให้แก่ประชาชน
ข้อจำกัดดังกล่าวมีอะไรบ้าง?
ทรัพยากรการผลิตสวัสดิการสังคม
สวัสดิการในความหมายกว้าง หมายถึง สิ่งใดๆที่ช่วยให้ปัจเจกชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความพึงพอใจที่มากขึ้น สวัสดิการสังคมที่รัฐบาลให้แก่ประชาชนจึงมีได้หลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพทางการเมือง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
หรือรูปแบบสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น เงินช่วยเหลือ แจกจ่ายของจำเป็น รวมถึงบริการต่างๆที่ให้แก่ประชาชน เช่น การศึกษาในสถาบันการศึกษารัฐบาล บริการสุขภาพในสถานพยาบาลรัฐบาล เป็นต้น
สวัสดิการหลายๆ ชนิดตามที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่สามารถงอกเงยได้ตามธรรมชาติ แต่จำเป็นต้องมีการผลิตมันขึ้นมา กระบวนการดังกล่าวต้องมีทรัพยากรการผลิต (Input) ผ่านเข้ากระบวนการผลิต และได้ผลผลิต (Output) ออกมา
โดยทางเศรษฐศาสตร์จัดประเภทของทรัพยากรการผลิตไว้ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ แรงงาน ทุน ที่ดิน และผู้ประกอบการ เช่น ถ้าเราต้องการผลิตเสื้อผ้าซึ่งเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ต้องมี
เราก็ต้องมีที่ดินตั้งโรงงาน มีเส้นด้ายเพื่อทอผ้า ลงทุนซื้อเครื่องจักร มีแรงงานที่ถักเส้นด้ายให้เป็นเสื้อ และมีผู้ประกอบการเพื่อจัดการกระบวนการผลิตให้ดำเนินการราบรื่นไปตามแผน
ในกรณีที่สวัสดิการอยู่ในรูปของบริการ เช่น บริการรักษาพยาบาล เราจำเป็นต้องมีแรงงาน เช่น หมอ บุคลากรการแพทย์ มีที่ดินสร้างโรงพยาบาล ลงทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ มีผู้บริหารจัดการโรงพยาบาล เพื่อผลิตการรักษาให้แก่คนไข้ อย่างไรก็ตาม บริการจะมีข้อจำกัดมากกว่าสินค้าบริโภคที่จับต้องได้
กล่าวคือ เราไม่สามารถนำเข้าสินค้าบริการจากต่างประเทศได้ หรือผลิตครั้งละมากๆ เพื่อประหยัดต้นทุนแล้วเก็บสะสมไว้ในสต็อกสินค้าเพื่อเรียกใช้เมื่อไรก็ได้ในยามต้องการ ดังนั้น การผลิตบริการต้องผลิตทันทีเมื่อมีอุปสงค์เกิดขึ้น
ข้อจำกัดด้านการคลังของไทย
ถึงแม้ปัจจุบันรัฐแทบจะไม่มีบทบาทในการผลิตสินค้าและบริการ แล้วปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ผลิตหลักเพื่อนำไปซื้อขายในกลไกตลาด แต่รัฐก็สามารถมีบทบาทเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด รวมถึงการให้เงินสนับสนุนเพื่อเกิดการกระจายสวัสดิการสังคมแก่ประชาชนได้
รัฐสามารถให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต เพื่อลดราคาสินค้าสวัสดิการ เช่น การให้เงินสนับสนุนแก่สถานศึกษาเป็นต้น หรือให้เงินช่วยเหลือโดยตรงแก่ประชาชนผู้รับ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกซื้อสวัสดิการต่างๆ เอง
รัฐต้องใช้เงินในทุกวิธีดังกล่าวข้างต้น ซึ่งแหล่งเงินสำคัญที่สุดของรัฐมาจากภาษีประชาชน อย่างไรก็ตามรายงานของธนาคารโลกบ่งชี้ว่าโครงสร้างภาษีปัจจุบันมีข้อจำกัด
ประการแรก รัฐไทยเก็บภาษีได้น้อยกว่าศักยภาพที่ควรจะเก็บได้ เนื่องจากมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบสูงถึงร้อยละ 40 ประกอบกับสมรรถนะของรัฐไม่ดีพอในการตรวจจับการเก็บภาษี
ประการสอง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีสรรพสามิตเป็นแหล่งรายได้สำคัญ มากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ประการสาม เครื่องมือภาษีเพื่อเกิดการกระจายรายได้ใหม่มีใช้อย่างจำกัด
ประการสุดท้าย รายได้ประชาชาติต่อประชากรยังจัดอยู่ในประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง โครงสร้างภาษีดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมีอยู่อย่างจำกัด และประชากรที่แบกรับภาษีส่วนใหญ่จะเป็นแรงงาน และนิติบุคคลที่อยู่เศรษฐกิจในระบบเป็นหลัก
ในขณะเดียวกันเมื่อดูรายจ่ายของรัฐบาล ข้อมูลจากงานวิจัย สังคมสูงวัยกับภาระการคลัง ของ ของพินทวัสและคณะ (2566) ร่วมกับข้อมูลจาก World Bank Group พบว่างบประมาณรายปีภาครัฐมีมูลค่าราว 17% GDP
อย่างไรก็ตามกว่า 80% ของงบประมาณดังกล่าวเป็นงบประจำ และมีงบลงทุนเพียง 20% ทำให้การใช้จ่ายลงทุนสวัสดิการใหม่ๆในอนาคตขาดความคล่องตัว ยิ่งไปกว่านั้น 22% ของงบประมาณถูกใช้จ่ายด้านการบริหารทั่วไปของรัฐ และ 6-8 % เป็นงบประมาณป้องกันประเทศ
โดยงบประมาณการศึกษากลับมีแนวโน้มลดลงจาก 20% ในปีพ.ศ. 2554 เป็น 15% ในปีพ.ศ. 2564 ส่วนงบประมาณด้านการสาธารณสุขมีแนวโน้มคงที่ 10 %
โครงสร้างการคลังข้างต้นสะท้อนถึงรัฐไทยมีความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการคลังใหม่ หาแหล่งรายได้ภาษีชนิดใหม่ ใช้เครื่องมือภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐด้านสวัสดิการสังคมมากขึ้น และสร้างความยั่งยืนทางการคลัง
ทรัพยากรมนุษย์ขาดแคลนในยุคแห่งการแย่งชิงแรงงาน
โครงสร้างแรงงานของไทยมีสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรสูงถึง 40 % ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศรัฐสวัสดิการตะวันตกรายได้สูงอย่างสวีเดน หรือ เดนมาร์ก (ประมาณ 2 %)
โครงสร้างดังกล่าวส่งผลให้ไทยขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการที่ต้องใช้ทักษะสูงในการผลิต เช่น บริการการศึกษา บริการการแพทย์เป็นต้น
แรงงานในกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการฝึกยาวนานและหาทดแทนแรงงานได้ยาก เช่น การผลิตแพทย์หนึ่งคนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี โดยรัฐต้องอุดหนุนค่าใช้จ่ายการศึกษา การผลิตครูต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี เป็นต้น
จำนวนแรงงานที่ใช้ผลิตสวัสดิการสังคมในไทยจึงมีจำนวนน้อยกว่าประเทศรัฐสวัสดิการตะวันตกอย่างมาก เช่น ในไทยมีจำนวนแพทย์ 0.4 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน เมื่อเทียบกับเดนมาร์กและสวีเดนที่มีจำนวนแพทย์ราว 3.7 คน
ถึงแม้จำนวนแรงงานทักษะสูงในภาคบริการของรัฐสวัสดิการตะวันตกจะสูงกว่าของไทยมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างจากรายงานระบบประกันสุขภาพของสหราชอาณาจักรฯ (NHS) บ่งชี้ว่ามีแพทย์และบุคลากรการแพทย์อื่นราว 1.3 ล้านคนในระบบ อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการพบแพทย์ยาวนานสูงสุดถึง 18 สัปดาห์หลังจากทำการนัดหมายในระบบสำหรับกรณีคนไข้ไม่ฉุกเฉิน และ 2 สัปดาห์สำหรับกรณีคนไข้ฉุกเฉิน
ด้วยอัตราการเกิดของประชากรที่น้อยลง และผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงในภาคบริการมีสูงขึ้นในอนาคต ถึงจะมีกระแสการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนงานบริการ ที่ต้องใช้มนุษย์และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าบริการแตกต่างจากสินค้าคือ ประเทศต่างๆไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้ ดังนั้นเมื่อแรงงานในประเทศไม่เพียงพอแล้วก็ต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศมาทดแทน การแย่งชิงแรงงานภาคบริการจึงเป็นสมรภูมิที่ไทยต้องเผชิญในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้
ประเทศที่ใช้ภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษ และมีค่าจ้างค่าตอบแทนที่สูงกว่า สวัสดิการพื้นฐานดีกว่าและครอบคลุมถึงสมาชิกผู้ติดตามของแรงงานอีกด้วย
จึงมีข้อได้เปรียบในการสร้างแรงดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะสูง เช่น โครงสร้างแรงงานใน NHS ซึ่ง 18.5 % จาก 1.3 ล้านคนเป็นแรงงานต่างด้าว มีคนไทยทำงาน 344 คน และมีแนวโน้มว่าคนเชื้อสายเอเชียจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบแล้วประเทศไทยมีความน่าดึงดูดแรงงานต่างด้าวน้อยกว่า เนื่องจากมีค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าประเทศรายได้สูง มีกำแพงด้านภาษา และกระบวนการขอใบอนุญาตทำงานมีความยุ่งยากซับซ้อน
ส่วนภายในระบบสุขภาพไทยเองก็มีแรงผลักบุคลากรการแพทย์ออก ด้วยภาระงานและชั่วโมงที่หนักหนาสาหัส วัฒนธรรมการทำงานที่ไม่เป็นมิตรกับแรงงาน เส้นทางการเติบโตในหน้าที่การงานไม่ชัดเจน ภาวะสมองไหลและขาดแคลนแรงงานจึงเป็นปัญหาน่ากังวลในระบบสุขภาพไทย และแรงงานสวัสดิการสังคมด้านอื่น
เพื่อการวางแผนผลิตอุปทานสวัสดิการสังคม ให้เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันและอนาคตที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น รัฐไทยจึงต้องมีการวางแผนระยะกลางและระยะยาวในการปฏิรูปการคลัง โครงสร้างภาษีใหม่ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
พร้อมทั้งวางแผนการผลิตทรัพยากรแรงงาน ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ที่สอดคล้องต่อความต้องการในตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน.