อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน 'ทกซูรี' ล่าสุด คาดทวีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่น
กรมอุตุฯ อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน 'ทกซูรี' ล่าสุด คาดทวีกำลังแรงขึ้นเป็น 'พายุไต้ฝุ่น' มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ไต้หวัน 26-28 ก.ค.นี้
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเส้นทางพายุโซนร้อน 'ทกซูรี' (DOKSURI) เวลา 16.00 น. วันนี้ (22 กรกฎาคม 2566) โดยเมื่อเช้านี้พายุฯยังมีศูนย์กลางอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ และคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็น 'พายุไต้ฝุ่น' ได้ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวไปทางเกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 26 - 28 กรกฎาคม 2566
เตือนผู้ที่จะเดินทางไปไต้หวันในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องตรวสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่จะช่วยดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2566
ในช่วงวันที่ 22 - 25 กรกฎาคม 2566 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 28 กรกฎาคม 2566 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรงตลอดช่วง ทำให้บริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง : ในช่วงวันที่ 22 - 25 กรกฎาคม 2566 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองสำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง
คาดหมายอากาศรายภาค ระหว่างวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 22 - 25 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 - 20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 28 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 - 37 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 22 - 25 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 - 20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 28 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 - 36 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 22 - 26 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 25 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 27 - 28 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 - 37 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28 - 36 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 22 - 23 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่ จ.สุราษฏ์ธานี ขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 28 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่ จ.สุราษฏ์ธานี ขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 - 36 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
ในช่วงวันที่ 22 - 26 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในวันที่ 27 - 28 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่ จ.พังงา ขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่ จ.ภูเก็ต ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 - 35 องศาเซลเซียส
กรุงเทพและปริมณฑล
ในช่วงวันที่ 22 - 26 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในวันที่ 27 - 28 กรกฎาคม 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24 - 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 - 36 องศาเซลเซียส