สทนช. จับมือ 3,000 องค์กรผู้ใช้น้ำทั่วปท. ระดมสมองกำหนดยุทธศาสตร์
สทนช. จับมือ 3,000 องค์กรผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ ระดมสมองคลอดยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็ง
สทนช.จับมือองค์กรผู้ใช้น้ำ22 ลุ่มน้ำกว่า 3,000 องค์กรที่จดเทะเบียนแล้ว ร่วมประชุมระดับประเทศครั้งแรก หวังระดมความคิดเห็นจัดทำยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำ ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับพื้นที่ได้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมเล็งกำหนด “วันองค์กรผู้ใช้น้ำแห่งชาติ”
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สทนช. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำระดับประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญ ญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยมีตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำของทั้ง 22 ลุ่มน้ำที่จดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 3,469 องค์กร
แบ่งเป็น ภาคเกษตรกรรม 2,934 องค์กร ภาคอุตสาหกรรม 270 องค์กร และภาคพาณิชยกรรม 265 องค์กร เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางในการดำเนินกิจกรรมองค์กรผู้ใช้น้ำ ร่วมกับ สทนช. ที่ทำหน้าที่สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ขององค์กรผู้ใช้น้ำ โดยครั้งนี้ถือว่าเป็นการประชุมองค์กรผู้ใช้น้ำระดับประเทศครั้งแรก
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่ได้หารือร่วมกัน อาทิ การพิจารณากรอบแนวทางวิธีการของการจัดตั้งกองทุน เพื่อให้มีช่องทางงบประมาณเข้ามาเสริมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำได้อย่างต่อเนื่องนำไปสู่ความยั่งยืน การพิจารณากำหนดวันองค์กรผู้ใช้น้ำแห่งชาติ เพื่อให้เป็นวันสำคัญในการสร้างขวัญกำลังใจ หรือกิจกรรมพิเศษให้กับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งหากกำหนดวันที่ชัดเจนแล้วจะได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยเร็วต่อไป โดยสทนช. จะรวบรวมผลสรุปนำไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็มองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่อไป
“ที่ผ่านมา สทนช. ได้ดำเนินการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้น้ำ โดยการจดทะเบียนองค์ผู้ใช้น้ำที่มีการรวบรวมสมาชิกภายในลุ่มน้ำเดียวกันจำนวน 30 คนขึ้นไป ซึ่งองค์กรผู้ใช้น้ำมีความสำคัญต่อการบริหารทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำในพ้นที่จริงครอบคลุมทั้ง 3 ภาคส่วนคือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม หากองค์กรผู้ใช้น้ำมีความเข้าใจบริบทของวิธีการใช้น้ำได้ดีและถูกต้อง มีความเข้มแข็ง สามัคคีแล้ว จะสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับพื้นที่ได้เหมาะสม
ตลอดจนสามารถเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำได้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นการช่วยหน่วยงานราชการในการกลั่นกรองโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสียได้เป็นอย่างดี อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าต่อผู้ใช้น้ำทุกคนในประเทศ” เลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย