ปภ. เตือน 24 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ถึง 3 ส.ค.66

ปภ. เตือน 24 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ถึง 3 ส.ค.66

ปภ.แจ้ง 24 จังหวัด เหนือ - อีสาน - กลาง - ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 30 ก.ค. - 3 ส.ค.66

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 (206/2566) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า

ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง

โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
 

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2566 ดังนี้ 

ภาคเหนือ 10 จังหวัด

  1. แม่ฮ่องสอน (ทุกอำเภอ)
  2. เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ ฝาง ไชยปราการ เชียงดาว แม่แตง แม่ริม)
  3. เชียงราย (อ.แม่สาย เชียงแสน แม่จัน แม่ฟ้าหลวง)
  4. ลำพูน (อ.เมืองฯ)
  5. ลำปาง (อ.สบปราบ วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม)
  6. พะเยา (อ.ปง เชียงคำ จุน แม่ใจ)
  7. แพร่ (อ.สอง วังชิ้น ร้องกวาง หนองม่วงไข่)
  8. น่าน (อ.เฉลิมพระเกียรติ ปัว บ่อเกลือ ทุ่งช้าง เชียงกลาง)
  9. อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด)
  10. ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด

  1. หนองคาย (อ.สังคม โพธิ์ตาก)
  2. บึงกาฬ (อ.เมืองฯ บุ่งคล้า)
  3. สกลนคร (อ.เมืองฯ ภูพาน สว่างแดนดิน)
  4. นครพนม (อ.เมืองฯ)

ภาคกลาง 5 จังหวัด

  1. กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี)
  2. ชลบุรี (อ.บ้านบึง ศรีราชา บางละมุง)
  3. ระยอง (อ.เมืองฯ แกลง บ้านค่าย)
  4. จันทบุรี (อ.เมืองฯ เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง)
  5. ตราด (ทุกอำเภอ)

ภาคใต้ 5 จังหวัด

  1. ชุมพร (อ.เมืองฯ พะโต๊ะ)
  2. ระนอง (ทุกอำเภอ)
  3. พังงา (อ.เมืองฯ ตะกั่วป่า กะปง คุระบุรี)
  4. ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  5. กระบี่ (อ.เมืองฯ เกาะลันตา คลองท่อม)

 

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2566 ดังนี้  

ภาคกลาง 4 จังหวัด

  1. ชลบุรี (อ.เมืองฯ ศรีราชา บางละมุง สัตหีบ)
  2. ระยอง (อ.เมืองฯ บ้านฉาง แกลง)
  3. จันทบุรี (อ.นายายอาม ท่าใหม่ แหลมสิงห์)
  4. ตราด (อ.เมืองฯ แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด)

ภาคใต้ 4 จังหวัด

  1. ระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์)
  2. พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
  3. ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  4. กระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)

 

ปภ. เตือน 24 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ถึง 3 ส.ค.66

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป