สทนช. ห่วงภาคกลางเสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ่อชง กนช. รณรงค์งดทำนาต่อเนื่อง
สทนช. ตรวจสถานการณ์น้ำภาคกลาง คาดปีนี้จะมีปริมาณฝนน้อย เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เตรียมเสนอ กนช. พิจารณาแนวทางงดทำนาต่อเนื่อง ย้ำจัดลำดับความสำคัญการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รองลงมาเพื่อรักษาระบบนิเวศ ส่วนการเพาะปลูกเน้นส่งให้ไม้ผลยืนต้น
ติดตามสถานการณ์น้ำในภาคกลาง โดยระบุว่า เป็นห่วงภาวะฝนตกน้อย จากการติดตามปริมาณฝนสะสมของประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันยังคงต่ำกว่าค่าปกติ รวมถึงปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนของปีนี้ยังคงต่ำกว่าค่าปกติเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางที่คาดว่าปริมาณฝนสะสมจะน้อยกว่าค่าปกติถึง 40% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้อย โดยมีรวมกันทั้งสิ้น 9,617 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การรวมกัน 2,921 ล้าน ลบ.ม. แต่ที่เป็นห่วงคือ สภาวะเอลนีโญอาจต่อเนื่องไปถึงปี 2567 และยังต้องติดตามต่อว่า จะต่อเนื่องไปถึงปี 2568 หรือไม่ จึงจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม
สำหรับภาคกลางมีพื้นที่เกษตรมาก โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าว ซึ่งใช้น้ำมาก โดยพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งในและนอกเขตชลประทาน เพาะปลูกข้าวไปแล้ว 11.04 ล้านไร่ จากแผน 13.13 ล้านไร่ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนา ให้รอฝนตกสม่ำเสมอก่อนจึงค่อยเพาะปลูก หลังเก็บเกี่ยวแล้วให้งดทำนาต่อเนื่อง โดยให้หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน
ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการลุ่มน้ำ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ หากประเมินว่า น้ำต้นทุนน้อย จะจัดลำดับความสำคัญการจัดสรรน้ำ ซึ่งจะต้องจัดเพื่อการอุปโภคบริโภคลำดับแรก รองลงมาคือ เพื่อรักษาระบบนิเวศ ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น คณะกรรมการลุ่มน้ำอาจต้องประกาศแจ้งงดทำนาต่อเนื่อง กรณีที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ และการดำเนินการของคณะกรรมการลุ่มน้ำไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร ขั้นต่อไปจะต้องเป็นการออกประกาศจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า เตรียมเสนอให้ กนช. พิจารณาเรื่องการประกาศงดทำนาต่อเนื่อง จากนั้นจึงจะเสนอ ครม.เห็นชอบ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยและกองทัพด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือของประชาชนที่จะใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามแผนที่กำหนดไว้
ขณะนี้ได้เน้นย้ำไปยังกรมชลประทานให้เร่งเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ มีโอกาสที่จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก ซึ่งจะเป็นผลดีในการเพิ่มน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า