ผ่าแผนบริหารจัดการน้ำกรมชลฯ ฝ่าวิกฤตปรากฎการณ์เอลนีโญ
กรมชลประทาน เตรียมวางแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือปรากฎการณ์เอลนีโญ ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งแหล่งน้ำต้นทุนต่ำกว่าค่าปกติ 32%
กรมชลประทาน เตรียมวางแผนบริหารจัดการน้ำรับมือปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้และจะต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 หลังกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ 20% โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญของลุ่มเจ้าพระยาปริมาณฝนสะสมต่ำกว่าค่าปกติ 32%
เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2566 มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,615 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของปริมาณการกักเก็บ โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 2,919 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
ปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าถึง 1,034 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีกถึง 15,256 ล้าน ลบ.ม. แต่หลังจากสิ้นฤดูฝน 2566 ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวมทั้งประเทศ 35,857 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2565 ถึง 9,852 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้จาก 4 เขื่อนหลัก 7,589 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2565 ประมาณ 6,485 ล้าน ลบ.ม.
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เผยถึงการเตรียมรับมือปรากฎการณ์เอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า กรมชลประทานได้บูรณาทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กนอช.) ติดตามสถานการณ์น้ำและปรากฎการณ์เอลนีโญอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้วางแผนรับมือเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยได้กักเก็บสำรองน้ำตั้งแต่ต้นฤดูฝนที่ผ่านมาให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่และความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ จะปรับลดการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำต่างๆทันทีเมื่อมีฝนตก พร้อมส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนด้วยการใช้น้ำฝนเป็นหลักใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น โดยเฉพาะการทำนาปีในที่ดอนนั้น ได้ให้เกษตรกรชะลอการปลูกจนพ้นภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งขณะนี้ได้พ้นภาวะฝนทิ้งช่วง และฝนเริ่มตกปกติแล้ว เกษตรกรที่ดอนสามารถเริ่มให้ทำนาปีตั้งแต่เดือนสิงหาคม2566 เป็นต้นไป ตามวิถีชีวิตเกษตรกรชาวนาดั่งเดิมที่ว่า "ปลูกวันแม่เก็บเกี่ยววันพ่อ"
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ได้มีการปลูกข้าวนาปีไปก่อนหน้านี้แล้ว และจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 นี้ กรมชลประทานขอความร่วมมือให้งดทำนาปีต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2566/67 และอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในช่วงปลายฤดูฝนได้ พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและกักเก็บน้ำไว้ในแหล่งน้ำของตนเองให้ได้มากที่สุด
"การบริหารจัดการน้ำและการปลูกพืชในฤดูฝนปีนี้ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ยังไม่มีผลผลิตใดๆที่ได้รับความเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ" รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว
สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่หลังจากสิ้นฤดูฝนที่คาดการณ์ไว้ว่า จะมีปริมาณน้ำทั้งสิ้น35,857 ล้านลบ.ม. นั้น เป็นการคาดการณ์กรณีที่ไม่พายุพาดผ่านประเทศ ไทยโดยตรง หากมีพายุพาดผ่านประเทศไทย 1 - 2 ลูก จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์แน่นอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2566/67 และอาจจะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอที่จะส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งโดยเฉพาะการทำนาปรัง แต่ถ้าหากไม่มีพายุเข้า และปริมาณน้ำต้นทุนเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในการพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา หากมีปริมาณต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักรวมกันไม่เกิน 5,000 ล้านลบ.ม. อาจจะต้องให้เกษตรกรงดหรือควบคุบพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ในขณะเดียวกันจะส่งเสริมเกษตรกรการปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อยทดแทน เพราะจะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ การใช้ในพืชยืนต้น ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67
ทั้งนี้กรมชลประทานมั่นใจว่า วางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ ตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้ และฤดูแล้งปี 2566/67 อย่างแน่นอน
นอกจากพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแล้ว อีกพื้นที่หนึ่งที่รัฐบาลให้่ความสำคัญคือ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบครอบแล้ว ปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปีนี้และต่อเนื่องไปจนปีหน้า อาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ได้
ซึ่งรองอธิบดีกรมชลประทานมั่นใจว่าน้ำในพื้นที่ EEC จะเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งขณะนี้มีความต้องการใช้น้ำประมาณวันละ1.20 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้วางแผนใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกที่มีอยู่รับมือ ด้วยการผันน้ำจากคลองสะพานมาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งมีศักยภาพสูบผันน้ำสูงสุดได้ถึง 470,000 ลบ.ม./วัน จากนั้นจะใช้อ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นศูนย์กลาง ส่งน้ำไปยัง อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่ EEC
นอกจากนี้ยังได้วางแผนที่จะสูบผันน้ำจาก คลองพระองค์ไชยานุชิต ซึ่งเป็นน้ำที่มาจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา มากักเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โดยได้วางแผนสูบผันน้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2566 เพื่อรองรับการใช้น้ำในพื้นที่ จ.ชลบุรี ตามข้อตกลงของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ รวมทั้งยังได้วางแผนผันน้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างฯประแสร์ ซึ่งระบบท่อผันน้ำมีศักยภาพในการผันน้ำได้ประมาณปีละ 70 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ เนื่องจากลุ่มน้ำคลองวังโตนดมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยถึง 1,237 ล้าน ลบ.มต่อปี. มากกว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่
อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่าค่าปกติก็ตาม แต่ในบางพื้นที่อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นจึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้กรมชลประทานปฏิบัติตาม 6 มาตรการในการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนของกรมชลประทาน ซึ่งสอดคล้องกับ 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ของ กอนช. อย่างเคร่งครัด กรมชลประทานมั่นใจว่า หากสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้จะก้าวข้ามฝ่าวิกฤตปรากฎการณ์ เอลนีโญ ไปได้อย่างแน่นอน