รองอธิบดี ทช. พบ รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต หาแนวทางกำจัด 'คราบน้ำมัน' บนชายหาด
รองอธิบดี ทช. พบ รองผู้ว่าฯ หารือแนวทางกำจัด หวั่นกระทบระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ล่าสุด มีเต่าตายแล้ว 1 ตัว มีคราบน้ำมันติดอยู่ภายในลำคอ
วันนี้ (8 ส.ค. 66) บรรยากาศบริเวณชายหาดต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะชายหาดฝั่งตะวันตก พบว่า ยังมีคราบน้ำมันและน้ำมันดิน (Tar Ball) ถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งให้เห็นประปราย ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ทำการเก็บกวาด เพื่อความสะอาดและป้องกันการเหยียบย่ำของผู้ที่ทำกิจกรรมบริเวณชายหาด ขณะที่บริเวณชายหาดป่าตองมีนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเลและทำกิจกรรมบริเวณชายหาดค่อนข้างบางตา เนื่องจากคลื่นลมค่อนข้างแรง และมีการติดตั้งธงแดงเป็นระยะๆ
ในส่วนของชายหาดในพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ มีรายงานการพบเต่าตะนุ 1 ตัว ที่หาดในยาง และเต่าหญ้า 1 ตัว ที่พรุเจ๊ะสัน หาดไม้ขาว ซึ่งทั้งสองตัวพบมีคราบน้ำมันเปื้นลำตัวด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ช่วยกันทำความสะอาด และประสานกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบนรับไปอนุบาลต่อไป
นอกจากนี้ ที่ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นางสาวพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้เข้าพบนายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อรายงานสถานการณ์คราบน้ำมันที่ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต และแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่ง รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ด้วย รวมทั้งการตรวจสอบหาที่มาของคราบน้ำมันดังกล่าวด้วย
นางสาวพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ได้รับรายงานคราบน้ำมันถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งบริเวณชายหาดต่างๆ ของภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมเป็นต้นมา โดยเริ่มจากทางตอนเหนือของจังหวัดพังงา กระจายตามชายหาดฝั่งตะวันตกของภูเก็ต ไปจนถึงเกาะราชาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันปริมาณเริ่มลดน้อยลง และมีการจับตัวเป็นก้อนขนาดเล็กๆ
แต่สิ่งที่เป็นกังวล คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะแนวปะการัง จากการสำรวจพื้นที่ที่พบคราบน้ำมัน ตั้งแต่จังหวัดพังงามาจนถึงภูเก็ต ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 4 พันไร่เศษ และยังมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่บริเวณชายหาดที่มีปริมาณน้ำมันมากๆ และบางส่วนอาจจะซึมลงไปในพื้นทราย เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินผลกระทบและความเสียหายได้ เนื่องจากในทะเลยังมีคลื่นลแรง แต่หลังจากที่คลื่นลมสงบแล้วทางกรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ส่วนผลกระทบที่เกิดกับนักท่องเที่ยวนั้น กรณีไปเหยียบเนื่องจากมองไม่เห็นหรือลงเล่นน้ำทะเลแล้วมีคราบน้ำมันติดขึ้นมา ในส่วนนี้จะต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ
“ทางกรมฯ ได้จัดทำโมเดลจำลอง เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของคราบน้ำมัน รวมทั้งกระแสคลื่นลมมรสุม และการไหลเข้ามายังฝั่ง ซึ่งจากการวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลอง พบว่า แหล่งกำเนิดของน้ำมันในทะเลและคราบน้ำมันครั้งนี้น่าจะอยู่ที่บริเวณทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต ห่างจากชายฝั่งประมาณ 80-90 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 140 กว่ากิโลเมตร สอดคล้องกับข้อมูลของกรมเจ้าท่าที่ได้ตรวจสอบย้อนหลังไปก่อนที่น้ำมันจะถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง 1 สัปดาห์ว่า มีเรืออะไร และเรือประเภทไหนบ้าง ที่วิ่งผ่านในบริเวณดังกล่าว” นางสาวพรศรี ระบุ
นางสาวพรศรี กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในทุกๆ ด้าน คือ เมื่อพบคราบน้ำมันที่ถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งให้เร่งทำการจัดเก็บออกให้เร็วที่สุด หากเก็บช้าน้ำมันอาจจะซึมลงไปในทรายและอาจจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่อยู่ในระบบนิเวศน์ชายหาดและหาดหิน เช่น ปู หอย เพรียง เป็นต้น ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ พบมีเต่าทะเลที่ถูกเคลือบน้ำมันแล้วอย่างน้อย 4 ตัว และมีเต่าตายแล้ว 1 ตัว ซึ่งจากการผ่าพิสูจน์ ปรากฎว่า เต่าได้กินน้ำมันเข้าไป
อย่างไรก็ตาม นางสาวพรศรี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ปริมาณคราบน้ำมันที่ถูกพัดเข้าฝั่งมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ยังมีพบมีการจับตัวเป็นก้อนเล็กๆ คาดว่าภายใน 1-2 วันจะกลับเข้าสู้ภาวะปกติ ส่วนปริมาณก้อนน้ำมันที่ทำการเก็บกวาดนั้น ในส่วนที่มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 3 ตันเศษ (เขตอุทยานฯ สิรินาถ 2 ตัน กับเกาะราชา 1 ตัน ) เพราะบางชายหาดจัดเก็บโดยท้องถิ่น ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล
ด้าน นายณชพงศ ประนิตย์ เจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเรือผ่าน ระบบ VTS. ที่วิ่งผ่านชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ตออกไปเป็นระยะทาง 95 nautical mile และมีโอกาสเข้าข่ายที่จะสามารถกระทำความผิดได้ ภายในช่วงระยะเวลา 7 วันย้อนหลัง (ช่วงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 - 3 สิงหาคม 2566) พบว่ามีจำนวนรวม 81 ลำ โดยแบ่งเป็นเรือสินค้า จำนวน 62 ลำ, เรือ Tanker จำนวน 18 ลำ และเรือ Tug Supply จำนวน 1 ลำ ซึ่งขณะนี้ได้มีการประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน
ซึ่งได้สนับสนุนข้อมูล Satellite - Derived surface current 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงวันที่ 27/07/2023 - 01/08/2023 และ ช่วงวันที่ 01/08/2023 - 06/08/2023 โดยข้อมูลดังกล่าวจะบอกถึงทิศทางของกระแสน้ำที่ได้ที่มีความเร็วเป็น เมตร/ วินาที จากการประมวลผลผ่านดาวเทียม โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปจำลองหาจุด Drop back ของการปล่อยทิ้งของเสียดังกล่าวจากเรือแล้วนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาและตำแหน่งของเรือที่ได้กลั่นกรองมา จำนวน 81 ลำ เพื่อจำกัดขอบเขตเรือเป้าหมาย และจะนำข้อมูลที่ได้หรือเรือต้องสงสัยเหล่านี้ส่งให้กับ GISTDA เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ว่า ปรากฎภาพเรือเหล่านี้ได้การกระทำความผิดทิ้งของเสียจากน้ำมันเหล่านี้ลงทะเลหรือไม่ เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป