กรมชลประทาน หารือสภาอุตสาหกรรมฯ วางมาตรการป้องกันภัยแล้งภาคตะวันออก
กรมชลประทาน หารือสภาอุตสาหกรรมฯ วางมาตรการป้องกันภัยแล้ง จากปรากฎการณ์เอลนีโญ ในพื้นที่ภาคตะวันออก
วันนี้ (17 สิงหาคม 2566) ที่กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมหารือข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขป้องกันภัยแล้งเร่งด่วนภาคตะวันออก ร่วมกับผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายสุรชัย นำนาผล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้กำหนดมาตรการในการรับมือภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ในพื้นที่ภาคตะวันออก 10 มาตรการ ประกอบด้วยการใช้โครงข่ายน้ำที่มีอยู่ สูบผันน้ำอย่างเต็มศักยภาพสำหรับเก็บกักน้ำและกระจายน้ำ ให้กับพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ – อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ – อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล สูบผันน้ำกลับคลองสะพาน- อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต – อ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนที่อ่างเก็บน้ำบางพระ สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ – อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนในจังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี ลดการใช้น้ำในทุกกิจกรรม และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนประหยัดน้ำ ลดการใช้น้ำ 10% ลดการใช้น้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงานเอกชนในจังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อลดการใช้น้ำของโรงไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะดำเนินการสูบผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับ อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการผันและกระจายน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำดอกกราย เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน