15 ปี 'ทักษิณ' กลับไทย ย้อนประวัติ รวมผลงานขณะเป็นนายกรัฐมนตรี
15 ปี ทักษิณ ชินวัตร กลับไทย ย้อนประวัติ รวมผลงานครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายต่างๆ สุขภาพ เศรษฐกิจ ยาเสพติด ต่างประเทศ ฯลฯ
15 ปี ทักษิณ ชินวัตร กลับไทย เดินทางจากสิงคโปร์กลับถึงสนามบินดอนเมืองเช้าวันนี้ (22 ส.ค.2566) ในเวลาประมาณ 09.00 น. ย้อนประวัติ รวมผลงานครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายต่างๆ สุขภาพ เศรษฐกิจ ยาเสพติด ต่างประเทศ ฯลฯ
นายทักษิณ ชินวัตร รับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2549 กระทั่งมีการก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้ทักษิณพ้นจากตำแหน่งนายกฯ
โดยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่ ทักษิณ อยู่ในแผ่นดินไทย ซึ่งก็ได้มีคลิปก้มลงกราบพื้น ที่หน้าห้องรับรองพิเศษ และโบกมือทักทายประชาชนที่มารอให้การต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม จากนั้น นายทักษิณ เดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อรายงานตัวในคดีทุจริตที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ต่อด้วยการรายงานตัวต่ออัยการสูงสุด ในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ในเครือชินคอร์ป ระหว่างที่กำลังมีการดำเนินคดี ทักษิณ ได้เดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง
หลังจากนั้น ศาลอ่านคำวินิจฉัยว่า ทักษิณ มีความผิดในคดีดังกล่าว เขาก็ไม่เดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่อดีตนายกฯ นายทักษิณ จะกลับมาบนผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง
- รวมผลงานครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผลงานทักษิณ ซึ่งถือเป็นผู้ริเริ่มหลายนโยบายซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา พลังงาน ยาเสพติดและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขาชนะการเลือกตั้งถล่มทลายถึง 2 สมัย นโยบายของ ทักษิณ ลดความยากจนในชนบทได้อย่างเด่นชัด และจัดบริการสาธารณสุขในราคาที่สามารถจ่ายได้ ด้วยเหตุนี้ ฐานเสียงสนับสนุนของเขาส่วนใหญ่จึงมาจากคนยากจนในชนบท
- นโยบายด้านสุขภาพ
โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ทักษิณ ได้รับเอาแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่จะจัดตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการนี้ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 76% ของประชากรเป็น 96% ของประชากร ซึ่งแม้จะถูกโจมตีเรื่องคุณภาพในการรักษาจากฝ่ายขั้วตรงข้าม แต่โครงการนี้ก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนชนบทซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก
- การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
เดือนมีนาคม 2544 ทักษิณได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการพัฒนาตลาดทุน และได้มีการกำหนดแผนเตรียมความพร้อมในการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
การนำ ปตท. เข้าตลาดหุ้นครั้งนั้นทำให้เงินทุนเริ่มกลับเข้ามาในระบบการเงินของไทย ช่วยปลุกตลาดหุ้นไทยขึ้นมาใหม่หลังอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนักเป็นเวลากว่า 4 ปี
หลังแปรรูปแล้วแม้รัฐบาลจะถือหุ้นในสัดส่วนลดลง แต่ ปตท.กลับส่งเงินเข้าคลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทักษิณยังได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆอีก คือ
- ปี 2545 แปรรูปองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็น บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- ปี 2545 แปรรูปการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เป็นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
- ปี 2546 แปรรูปการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) เป็นสองบริษัทคือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
- ปี 2547 แปรรูปองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เป็นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
- การปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ
จากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อมาประคองเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างเสรี จำยอมต้องดำเนินนโยบายการเงินและคลังตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของไอเอ็มเอฟ แม้ทักษิณจะได้รับคำทัดทานว่าอาจจะทำให้ประเทศขาดสภาพคล่องแต่ทักษิณก็เร่งรัดให้มีการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลที่ว่า "...ผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก"
การชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระก่อนกำหนดถึง 2 ปี การพ้นพันธะจากไอเอ็มเอฟทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับและไม่ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย
ส่งผลให้มีกระแสเงินเข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้รับการปรับระดับอันดับเครดิต (Credit rating) โดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส จากระดับ BBB ขึ้นสู่ระดับ BBB+
- หวยบนดิน (สลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว)
ทักษิณ ตระหนักว่าธุรกิจหวยใต้ดินนั้นมีเงินหมุนเวียนมหาศาลและรัฐไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ นอกจากนี้ ธุรกิจหวยใต้ดินยังเป็นเสมือนบ่อเงินบ่อทองของเหล่าผู้มีอิทธิพล ทักษิณจึงกำหนดให้มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ซึ่งเรียกว่า "หวยบนดิน" ขึ้นมาเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ
และมีการยกเว้นการเก็บภาษีกับสลากประเภทนี้ รายได้จากการจำหน่ายสลากประเภทนี้หลังหักค่าใช้จ่าย หากกองทุนมีเงินส่วนเกินเหลือเหมาะสมเพียงพอในแต่ละช่วงเวลาจะจัดสรร รายได้ส่วนเกินดังกล่าวคืนสู่สังคมเพื่อสนับสนุนการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ
- นโยบายเศรษฐกิจ
รัฐบาลทักษิณ ออกแบบนโยบายเพื่อตอบสนองผู้ออกเสียงลงคะแนนฝ่ายข้างมากในชนบท ริเริ่มโครงการอย่างกองทุนพัฒนาไมโครเครดิตที่หมู่บ้านเป็นผู้จัดการ เงินกู้ยืมการเกษตรดอกเบี้ยต่ำการอัดฉีดเงินสดเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านโดยตรง (แผนเอสเอ็มแอล) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) โครงการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมชนบท
ทักษิโณมิค นโยบายเศรษฐกิจของทักษิณ ช่วยเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 และลดความยากจน จีดีพีเติบโตจาก 4.9 ล้านล้านบาทเมื่อปลายปี 2544 เป็น 7.1 ล้านล้านบาทเมื่อปลายปี 2549 ประเทศไทยจ่ายหนี้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศก่อนกำหนดสองปี ระหว่างปี 2543 ถึง 2547 รายได้ของภาคอีสานซึ่งเป็นภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศเพิ่มขึ้น 40% และอัตราความยากจนทั่วประเทศลดลงจาก 21.3% เหลือ 11.3%
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการซื้อขายเหนือตลาดอื่นในภูมิภาค หลังขาดดุลการคลังในปี 2544 และ 2545 ทักษิณได้ปรับดุลงบประมาณของชาติ ซึ่งทำให้มีงบประมาณส่วนเกินเหลือไว้สำหรับปี 2546 ถึง 2548 แม้ว่ามีโครงการการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ แต่มีการกำหนดงบประมาณสมดุลสำหรับปี 2550
หนี้สาธารณะของไทยลดลงจาก 57% ของจีดีพีเมื่อเดือนมกราคม 2544 เหลือ 41% ของจีดีพีในเดือนกันยายน 2549
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2544 เป็น 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2549
- นโยบายต้านยาเสพติด
ทักษิณ ริเริ่มนโยบายซึ่งมีข้อโต้เถียงอย่างสูงหลายอย่างเพื่อตอบโต้การเติบโตของตลาดยาเสพติดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมแทมเฟตามีน หลังนโยบายต้านยาเสพติดก่อนหน้านี้ เช่น การปิดพรมแดน (เมทแอมเฟตามีนส่วนมากผลิตในประเทศพม่า) การศึกษาสาธารณะ กีฬา และการสนับสนุนแรงกดดันกลุ่มต่อการใช้ยาเสพติดให้ผลไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าใด
ทักษิณ ออกการรณรงค์ปราบปรามหลายทิศทางซึ่งมุ่งจำกัดการใช้เมทแอมเฟตามีนใน 3 เดือน โดยเปลี่ยนการลงโทษสำหรับการติดยาเสพติด การตั้งเป้าหมายการจับและยึดของจังหวัด การให้รางวัลข้าราชการของรัฐสำหรับการบรรลุเป้าหมาย การกำจัดผู้ค้าและสั่งการนำไปปฏิบัติอย่าง "ไร้ปราณี"
- นโยบายต่างประเทศ
จากวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2540 ทำให้ทักษิณหันไปให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น และยังชูกระแสชาตินิยมและเอเชียนิยม ตลอดจนแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อตะวันตก ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกค่อนข้างห่างเหิน จนทำให้ในช่วงแรกๆของการดำรงตำแหน่งนายกฯ นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลว่ารัฐบาลทักษิณมีแนวคิดต่อต้านการลงทุนจากต่างชาติและเป็นพวกชาตินิยม จนทักษิณต้องทำการชี้แจงต่อนักลงทุนต่างชาติ
ไทยได้ลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศในสมัยทักษิณ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, บังกลาเทศ, พม่า, ศรีลังกา, บาห์เรน, เปรู, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์
ทักษิณกลับไทยในรอบ 15 ปี
ทักษิณ กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยในรอบ 15 ปี ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะมีการเข้าสู่กระบวนการรับโทษ 3 คดี ประกอบด้วย
- คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ตัดสินเป็นคดีแรกเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี
- คดีหวยบนดิน ตัดสินเป็นคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปีไม่ได้ขอให้นับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงก์
- คดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป ตัดสินเป็นคดีที่ 3 เมื่อ 30 ก.ค.2563 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 5 ปี และให้นับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงก์ (คดีที่ 1) และหวยบนดิน (คดีที่ 2)
รวมแล้ว จำคุก 3 คดี เป็นระยะเวลา 8 ปี (3 ปี (คดีที่ 1= 3 ปี, คดีที่ 2 = 2 ปี นับโทษซ้อนกัน ) +5 ปี) โดยคดีที่ 1 กับ 2 นับโทษซ้อนกัน ส่วนคดีที่ 3 รอนับต่อหลังจากรับโทษคดี 1 และ 2 เสร็จสิ้นแล้ว
ข้อมูลอ้างอิงจาก
ภาพ : สุกฤษฏ์ สืบสาย