ดราม่าแฮชแท็ก ปังชา - ลูกไก่ทอง เรียก 102 ล้าน เกิดอะไรขึ้น สรุปใช้ได้หรือไม่
สรุปดราม่าแฮชแท็ก ปังชา - ลูกไก่ทอง เกิดอะไรขึ้น ตัวแทนเผยจุดประสงค์ร้านกรณี notice ให้หยุดการใช้ชื่อร้านว่า ปังชา และเรียกค่าเสียหาย 102 ล้าน
แฮชแท็ก "ปังชา" และ ลูกไก่ทอง มากกว่า 2 แสนทวิตฯบนโลกทวิตเตอร์ กรณีดราม่าร้านดัง ลูกไก่ทอง ได้โพสต์ว่า ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งภาษาไทยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
โดย "ปังชา" ได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า และห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
กระทั่งต่อมาปรากฏว่า ร้านขนมปังปิ้งชื่อร้าน "ปังชา" ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.เชียงราย ได้เปิดเผยว่าถูกทนายส่งโนติส (notice) เรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาท ซึ่งทางเจ้าของร้านได้เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า ร้านของตนเองนั้นเปิดร้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 และไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะลอกเลียนแบบใคร และที่ร้านก็ไม่ได้มีเมนูน้ำแข็งไสด้วย นอกจากนั้น ยังมีร้านที่ตั้งอยู่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งทนายความส่งโนติสถูกเรียกเงินร้าน 700,000 ด้วยนั้น เรื่องนี้ยิ่งกลายเป็นดราม่าหนักขึ้นไปอีก
ทนายเกิดผล แก้วเกิด ก็ได้แสดงความคิดเห็นโดยระบุว่า "มันเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์แล้วนะเนี่ย" โดยชาวเน็ตต่างตั้งคำถามว่า การจดเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร สามารถเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านได้หรือไม่นั้น
ทนายพีรภัทร ฝอยทอง ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยบอกว่า กรณี notice ให้หยุดการใช้ชื่อร้านว่า ปังชา และเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาท แบบนี้เค้าใช้ชื่อร้านว่าปังชาได้หรือไม่
คำตอบในเรื่องนี้จะอยู่ที่ มาตรา 6 (1) ของ พรบ. เครื่องหมายการค้า ซึ่งมาตรา 6 เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1.เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
คำว่า "ลักษณะบ่งเฉพาะ" หมายถึง เครื่องหมายนั้นต้องไม่มีลักษณะธรรมดาสามัญของสินค้าหรือบริการนั้นๆ แปลว่า ถ้าเราทำบิงซู หรือน้ำแข็งไสแล้วใส่ขนมปังราดด้วยชาเย็น
ลักษณะสามัญ ของมัน คือ ขนมปัง ชาเย็น น้ำแข็งไส แปลว่า ถ้าเราจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ ต้องไม่มีลักษณะสามัญของสินค้าเหล่านั้น
แต่ถ้าเราจะจดโดยมีคำสามัญลงไปด้วย เราก็จะต้อง สละสิทธิ คำดังกล่าว คือเราจะไปหวงกันไม่ให้คนอื่นใช้คำเหล่านั้นไม่ได้ สิ่งที่จะจดเครื่องหมายการค้าได้ต้องเป็นพวกรูป ฟอนท์ ที่มีลักษณะเฉพาะของทางร้านเท่านั้น
ดังนั้น ในกรณีนี้ ทางร้านยังสามารถใช้ชื่อร้านเดิมต่อไปได้ ส่วนเรื่องค่าเสียหาย ในเมื่อเรามีสิทธิใช้ชื่อร้านว่า ปังชา เค้าก็เรียกค่าเสียหายไม่ได้ ถ้าถูกฟ้องจริงก็สามารถไปต่อสู้ที่ศาลได้แน่นอน
สอดคล้องกับทาง ทนายนิด้า ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊กสรุปว่าคำว่า "ปังชา" ประชาชนทั่วไปยังสามารถใช้ได้โดยสุจริต โดยไม่มีสิทธิถูกฟ้องได้ แต่อย่าไปใช้บนรูปลักษณ์ของเครื่องหมายให้มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน โดยมีเจตนาฉกฉวยประโยชน์ให้เจ้าของเครื่องหมายเสียหาย ซึ่งแบบนี้มีสิทธิถูกฟ้องได้
ต่อมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้อธิบายว่าการใช้คำว่า “…ปัง…ชา…” หรือ “…ปังชา…” กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ ไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และอ้างว่าเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวต่อเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยได้ เพราะมีขายมานานแล้ว สรุปคือ เมนูดังกล่าวใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต
ขณะที่ทาง ร้านลูกไก่ทอง ได้โพสต์ชี้แจงโดยระบุว่า ร้านอาหารลูกไก่ทอง และร้านปังชา ขอประกาศขอชี้แจงถึงกรณีข้อความในโพสต์ที่ได้มีการโพสต์ผ่านทางโซเชียลมีเดียของทางร้าน ทางร้านขออภัยที่มีการสื่อสารและทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ทางร้านน้อมรับทุกคำติชม คำแนะนำ และจะปรับปรุง พัฒนาทั้งในการสื่อสาร การบริการ สินค้า ต่อไป
ขอขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้ให้ข้อมูลและหาแนวทางร่วมกันในการชี้แจงเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจทางแบรนด์เป็นอย่างดีที่สุด
ที่สำคัญที่สุด กราบขอบพระคุณด้วยความเคารพจากใจในทุกๆท่านที่ร่วมกันโพสต์แสดงความคิดเห็นให้แนวทาง อธิบายในข้อมูลที่มี เพื่อเป็นความรู้กับปังชาเป็นอย่างดีที่สุด ขอบพระคุณจริงๆค่ะ
ที่ผ่านมาจากกระแสที่เกิดขึ้น ทางร้านลูกไก่ทองและปังชา มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด แต่ได้มีการสอบถามและหาปรึกษาแนวทางร่วมกัน ชี้แจงกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงออกมาชี้แจง ณ ที่นี้พร้อมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ล่าสุด รายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ได้พูดคุยกับ แอน ตัวแทนทีมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของปังชา ถามถึงจุดประสงค์กรณีเรียกเงินกับทางร้านที่เชียงราย และหาดใหญ่ ระบุว่า จุดประสงค์ของร้าน ไม่ได้หวังเรียกเงิน แต่ต้องการแค่ให้ยุติการใช้คำดังกล่าว ที่เป็นการละเมิดเครื่องหมายทางการค้า เพราะเราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
การทำหนังสือเนื่องจากมีการโทรถามว่า เป็นสาขาของร้านหรือไม่ จึงต้องทำหนังสือออกไป ไม่ได้อยากทำให้ใครเสียหาย หากมุ่งหวังที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย คงใส่ชื่อคนในหนังสือไปแล้ว อยากแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเรามีสิทธิ
ส่วนเรื่องจำนวนเงินที่เรียกเก็บนั้น แอน ระบุว่า ในหนังสือเนื้อหาอาจจะรุนแรง ก็ต้องขอโทษเรื่องเอกสาร แต่เจตนาไม่ได้คิดจะเรียกเงิน ทีมกฎหมายมองว่า ทำอย่างไรถึงจะหยุดได้เร็วที่สุดเลยทำออกไป ส่วนการกำหนดมูลค่าความเสียหาย เกิดจากความภาคภูมิใจในมูลค่าของแบรนด์ ไม่ได้ตั้งใจจะเรียกเงินจริงๆ ถามว่าใช้คำว่าขู่ได้ไหม มองว่าคำว่าขู่อาจจะดูรุนแรงไป แค่อยากให้หยุดทำ เพราะเรามีสิทธิทำได้
กรณีเรียก 7 แสนทั้งที่ร้านหาดใหญ่ไม่ได้ขายน้ำแข็งไส แอน บอกว่า ตามจำพวกรายการอาหารเราได้คำว่าเมนูที่ใช้ในร้านอาหาร ก็คือ ใช้ไม่ได้ ซึ่งร้านที่หาดใหญ่ มีการใช้ในชื่อในป้าย แต่เจตนาคือไม่ได้จะเรียกเงิน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอดูว่าทางร้านจะว่าอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ได้ขอยุติและยังไม่ได้คุยกับร้าน อยากให้ทุกคนสบายใจและแสดงให้เห็นว่าทางร้านเสียใจ ร้านไม่ได้มีเจตนาจะเรียกเงิน แต่แค่เป็นการรักษาสิทธิของร้านซึ่งกรอบอาจจะกว้างเกินไป
ขณะที่ แก้ม เจ้าของร้าน ได้เปิดใจผ่านรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ระบุว่า "ปังชา" ทุกคนใช้ได้เลย ทุกคนสามารถใช้ได้ ไม่ได้เป็นของร้านคนเดียว ใช้ได้ไม่โดนฟ้อง กราบขอโทษประชาชนและเจ้าของร้านที่ได้รับโนติซ เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นทุกอย่างเกิดจากการสื่อสารคลาดเคลื่อน การออก notice ไม่ได้มีเจตนาฟ้องและร้านไม่สามารถไปฟ้องเขาได้ ส่วนยอดความเสียหายจำนวน 102 ล้านที่ระบุเป็นการเอาแบบอย่างมาจากต่างประเทศ เป็นการให้ความสำคัญกับเครื่องหมายการค้า เป็นการป้องกันไม่ให้ต่างชาติมาเอาเครื่องหมายการค้าเราไปได้ เจ้าของร้านอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นความเข้าใจผิด ไม่ได้มีเจตนาฟ้องร้องจริงๆ
ส่วน Pang Cha ภาษาอังกฤษนั้นใช้ได้หรือไม่ เจ้าของร้านบอกว่า อันนี้ใช้ได้แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความสับสน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องให้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายขยายเพิ่มเติมอีกครั้ง
ข้อมูลประกอบจาก
Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant
ทนายพีรภัทร ฝอยทอง , ทนายนิด้า , รายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ , รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์