กอนช. ลงพื้นที่เมืองปากน้ำโพ เร่งเพิ่มน้ำต้นทุนบึงบอระเพ็ด ป้องผลกระทบเอลนีโญ
กอนช. ลงพื้นที่เมืองปากน้ำโพ หวั่นเอลนีโญกระทบหนัก สั่งเร่งเพิ่มน้ำต้นทุนบึงบอระเพ็ด เผยภาพถ่ายโดรนบินสำรวจไม่พบพื้นที่ปลูกข้าวต่อเนื่อง กำชับหน่วยงานปฏิบัติตามมาตรการรับมือฝนและ 3 มาตรการรับเอลนีโญ ย้ำเก็บกักน้ำช่วงฝนนี้ให้มากที่สุด ป้องกันภัยแล้ง
วันนี้ (3 ก.ย. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมของเครื่องมือเครื่องจักรตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน 2566 รวมทั้ง 3 มาตรการรับมือเอลนีโญเพิ่มเติม ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ร่วมกับ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ณ ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ หลังจากนั้น ลงพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง และโครงการหน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยและมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติและคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 49 ล้าน ลบ.ม. (10%) น้อยกว่าปี 65 และมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวคือ บึงบอระเพ็ด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 9.4 ล้าน ลบ.ม. (4%) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ทั้งนี้ต้องควบคุมระดับน้ำเพื่อรักษาพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่า 3 ล้าน ลบ.ม. จากการประเมินสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบันการเพิ่มน้ำต้นทุนดำเนินการโดยสถานีสูบน้ำทับกฤชของกรมทรัพยากรน้ำ โดยมีการจัดทำข้อตกลง 4 ข้อ ระหว่างกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ด ได้แก่ 1.งดสูบน้ำจากบึงบอระเพ็ดและลำคลองสาขาเพื่อไปทำนา ยกเว้นแปลงนาที่อยู่ระหว่างเพาะปลูกไปแล้ว 2.สูบน้ำเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (บ่อปลา) ได้ แต่ต้องดูแลคุณภาพน้ำทิ้งจากบ่อปลา 3.ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้และต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และ 4.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำผ่านผู้นำท้องถิ่นและให้ชาวบ้านช่วยสอดส่องดูแลรักษาระเบียบตามข้อตกลงข้างต้น
จากการวิเคราะห์คาดการณ์ฝนล่วงหน้าเดือนกันยายน-ตุลาคม 66 ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติอยู่ในช่วงร้อยละ 3-10 ทำให้โอกาสที่จะมีปริมาณน้ำที่เกิดจากน้ำฝนไหลเข้าบึงบอระเพ็ดมีปริมาณไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนให้มากที่สุด ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการใช้ที่ดินบริเวณรอบบึงบอระเพ็ดโดยอากาศยานไร้คนขับอัตโนมัติ (โดรน) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 6 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณบ้านใหม่ หมู่ 5 ต.หนองปลิง อ.เมือง จุดที่ 2 บริเวณบ้านปลวกสูง ต.พระนอน อ.เมือง จุดที่ 3 บริเวณบึงพาลี บึงทัพกฤช ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จุดที่ 4 บริเวณวัดเกรียงไกรใต้ ต.เกรียงไกร อ.เมือง จุดที่ 5 บริเวณวัดท่าล้อ ต.เกรียงไกร อ.เมือง และจุดที่ 6 บริเวณวัดราษฎร์บำรุง ต.พระนอน อ.เมือง ซึ่งทั้ง 6 จุด ไม่พบการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องแต่อย่างใด
“แม้ว่า จ.นครสวรรค์ จะไม่พบพื้นที่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ งดเว้นการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง เพราะในปีนี้สถานการณ์น้ำต้นทุนของประเทศมีน้อยและเอลนีโญทำให้มีฝนน้อย ซึ่ง กอนช. ได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนตาม 12 มาตรการฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งอีก 3 มาตรการรับมือเอลนีโญเพิ่มเติมด้วย คือ การจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำของลุ่มน้ำ การควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยเฉพาะการเตรียมแหล่งน้ำสำรองและเร่งเก็บกักน้ำในช่วงฝนไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเราจะได้ผ่านสถานการณ์เอลนีโญไปด้วยกัน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว