ชาวสวนยางพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR กยท. ย้ำเป็นโอกาสทองขยายตลาดของไทย

ชาวสวนยางพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR กยท. ย้ำเป็นโอกาสทองขยายตลาดของไทย

เกษตรกรชาวสวนยาง จ.เชียงราย ประกาศพร้อมรับมือกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป กยท. มั่นใจการซื้อขายยางผ่าน Thai Rubber Trade ด้วยเทคโนโลยี Block chain และการระบุที่ตั้งสวนยางผ่านแอปพลิเคชัน RAOT GIS สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพิ่มศักยภาพการในการแข่งขันทางการค้า ควบคู่กับการขยายตลาดการส่งออกยางของประเทศไทยไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก

 นายปรีชา เป็งนวล ประธานกรรมการ สหกรณ์ยางพาราแม่ลาว-แม่กรณ์ จำกัด จ.เชียงราย  เปิดเผยว่า สหกรณ์ฯ มีความพร้อมในเรื่องการสอบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ยางพารา (Traceability) เพื่อรองรับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป  

ทั้งนี้ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องการประ มูลซื้อขายยางพาราผ่านระบบ Thai Rubber Trade (TRT) ซึ่งเป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างสหกรณ์ฯ กับผู้ซื้อ โดยอ้างอิงราคากลางตามที่ประกาศของ กยท. ซึ่งจากเดิมเกษตรกรจะซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง  ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้ ที่เพิ่มขึ้นสามารถเลี้ยงครอบครัวได้  และที่สำคัญยางพาราที่ซื้อขายผ่านระบบ TRT ของสหกรณ์ฯ จะสามารถตรวจสอบรายละเอียดในการซื้อขายแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจน

เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายไว้เป็นระบบ จึงสามารถเช็คได้ว่าผลผลิตยางที่ขายไป มาจากสวนยางของสมาชิกรายใด สวนยางตั้งอยู่ที่พิกัดไหน และเป็นสวนยางที่มีประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR หรือไม่ 

ชาวสวนยางพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR กยท. ย้ำเป็นโอกาสทองขยายตลาดของไทย

สำหรับสหกรณ์ยางพาราแม่ลาวแม่กรณ์ ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2560  เพื่อรวบรวมและส่งมอบยางก้อนถ้วยของสมาชิกในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย อ.พาน อ.แม่ลาว และ อ.แม่สรวย  มีสมาชิกทั้ง หมด 219 คน  โดย สหกรณ์ฯ และ กยท. มีการบูรณาการข้อมูลเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง กับ กยท. ร่วมกัน ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลผลิตยางในกลุ่มประเทศผู้ซื้อยางที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 

ชาวสวนยางพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR กยท. ย้ำเป็นโอกาสทองขยายตลาดของไทย

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท.  เปิดเผยว่า  กฎหมาย  EUDR ของสหภาพยุโรปจะส่งผลดีต่อยางพาราของไทย เนื่องจากในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพมากที่สุด จึงเป็นโอกาสทองในการขยายตลาด  โดยที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับกฎหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง   ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการซื้อขายประมูลยางพาราให้เป็นรูปแบบ Digital Platform ผ่านระบบ TRT

โดยได้เปิดใช้งานระบบในพื้นที่ของสำนักงานตลาดกลางยางพารา 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียง ราย สำนักงานตลาดกลางจังหวัดหนองคาย สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานตลาดกลางยาง พาราจังหวัดระยอง ปัจจุบัน กยท. กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานเปิดใช้ระบบ TRT ในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี  สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช  สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา เพื่อให้ครบทั้ง 8 แห่งภายในปี 2566    

 ทั้งนี้การซื้อขายประมูลยางพารา ผ่านระบบ TRT เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการซื้อขายประ มูลยางพารา ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูล กับ สำนักงานตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง และตลาดเครือข่ายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ  ซึ่งนอกจากจะช่วยลดระยะเวลาการทำธุรกรรม เพิ่มความโปร่งใส มีความแม่นยำ ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชี สามารถทำสัญญาการซื้อขายต่างๆง่ายขึ้นพร้อมทั้งได้ยางที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาที่เป็นธรรม  และเพิ่มโอกาสขยายช่องทางการตลาดแล้ว  รวมทั้งการนำเทคโนโลยี Block chain  เข้ามาใช้ในระบบ TRT ยังรองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้อีกด้วย

    
 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การซื้อขายประมูลยางพาราของสำนักงานตลาดกลางยางพารา และตลาดเครือข่ายของ กยท.  มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกๆ ด้านยิ่งขึ้น ขณะนี้ กยท. กำลังพัฒนาระบบ TRT อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ซื้อยางสามารถทราบรายละเอียดการซื้อขายยางของสมาชิกสหกรณ์ในแต่ละครั้งว่าเป็นอย่างไร  มาจากพิกัดสวนยางแปลงไหน สามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำมากยิ่งขึ้น  สอดรับกับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป  โดยตั้งเป้าจะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนกฎหมาย EUDR มีผลบังคับใช้ 


 นอกจากนี้ กยท. ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “RAOT GIS”  ขึ้นมารองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำ เนิดผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อรองรับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรปอีกเช่นกัน   โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวมุ่งบริหารจัดการเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง ข้อมูลสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง  และข้อมูลผู้ซื้อขายยางผ่านตลาดกลางยางพาราของ กยท.  ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทุกคนสามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ Android และ iOS ลงชื่อเข้าใช้งานได้ทันที  พร้อมทั้งสามารถอัปเดตข้อมูลสวนยาง ด้วยการวาดพิกัดแปลงสวนยาง อัปโหลดรูปถ่ายสวนยาง และเอกสารต่างๆ และยังสามารถดูพิกัดพื้นที่สวนยางของตนเอง รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกเช่นกัน 


 นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า  แอปพลิเคชัน RAOT GIS  ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยาง สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทำสวนยางในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารข้อมูลสวนปลูกแทน สวนประกันรายได้  วิเคราะห์และบริการข้อมูลรายงานเชิงพื้นที่  ตลอดจนรายงานการปลูกแทนตามอายุและประเภทยางพารา ความเหมาะสมของดินสำหรับการปลูกยางและพืชชนิดอื่นๆ  คาดการณ์การใช้ปุ๋ย  การวิเคราะห์ข้อมูลด้านการขนส่ง  รวมทั้งการค้นหาสถานที่ตั้งของ กยท. ทั่วประเทศ 


 สำหรับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรปดังกล่าว ได้กำหนดให้การนำเข้ายาง และผลิตภัณฑ์จากยาง จะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ป่า และไม่ทำลายป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพารา ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม  ซึ่งสวนยางพาราของไทยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามที่ กฎหมาย EUDR กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม สวนยางพาราที่ไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และไม่เป็นตามกฎหมาย EUDR  ก็ยังสามารถขายยางไปยังตลาดต่างประเทศอื่นๆ ได้ เช่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่รับซื้อยางจากประเทศไทยมากที่สุดยังไม่ได้นำกฎหมายดังกล่าว มาใช้เป็นเงื่อนไขในการซื้อขายยาง