'กรมธนารักษ์' ชี้แจงปม 'ตัดไม้พะยูง' ในที่ดินราชพัสดุ จ.กาฬสินธุ์

'กรมธนารักษ์' ชี้แจงปม 'ตัดไม้พะยูง' ในที่ดินราชพัสดุ จ.กาฬสินธุ์

'กรมธนารักษ์' ชี้แจงปม 'ตัดไม้พะยูง' ในที่ดินราชพัสดุ จ.กาฬสินธุ์ เร่งรวบรวมหลักฐานส่ง ป.ป.ช. สอบ ยืนยันไม่มีเจ้าหน้าที่กรมฯเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

วันที่ 7 กันยายน 2566 นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวและภาพข่าวกรณีการลักลอบตัดไม้พะยูง ในสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีการขนย้ายไม้พะยูงในส่วนที่เหลือจากการลักลอบตัด มาเก็บไว้ที่หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ ต่อมาไม้ดังกล่าวได้สูญหายไป และกรณีการตัดไม้พะยูงในเขตโรงเรียนคำไฮวิทยา รวมถึงภาพข่าวหลักฐานการเจาะต้นไม้พะยูงในโรงเรียนโคกกลางเหนือ นั้น

 

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น กรมธนารักษ์ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1) กรณีไม้พะยูงที่นำมาเก็บไว้หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อหายไป ซึ่งจากการแถลงข่าวของสำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า เกิดจากการยักยอกไม้พะยูงของกลางไปจากหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อโดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จำนวน 3 คน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพนักงานรวม 2 คน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้าน จำนวน 3 คน ซึ่งในเบื้องต้นพนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารทั้งหมด ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว

 

2) กรณีการตัดต้นไม้พะยูงที่โรงเรียนคำไฮวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและสาเหตุในการขอตัดต้นไม้พะยูง เนื่องจากเกิดเหตุมีผู้ลักลอบตัดต้นไม้ที่อยู่ในโรงเรียนบ่อยครั้ง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงประสงค์ที่จะตัดไม้พะยูงดังกล่าว

 

 

ทั้งนี้ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ได้มีหนังสือแจ้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ว่า การตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุ ผู้ใช้ที่ราชพัสดุสามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องตัดต้นไม้เท่าที่จำเป็นตามแนวทางที่กรมธนารักษ์กำหนด เช่น กีดขวางการใช้พื้นที่เพื่อปลูกสร้างอาคาร หรือกีดขวางสายไฟฟ้า หรือต้นไม้อาจโค่นล้มเป็นอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน หรือเป็นการตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสวยงาม และกรมธนารักษ์ก็ยังได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ กรณีการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุให้สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ ที่ให้ทุกหน่วยงานมีการอนุรักษ์ต้นไม้และป่าไม้ในเขตพื้นที่ราชพัสดุ โดยให้หลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ใหญ่ ยกเว้นการณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่มิอาจหลักเลี่ยงได้ โดยให้ผู้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด

อธิบดีกรมธนารักษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการประเมินราคาไม้พะยูง และการขายไม้พะยูง ว่า การประเมินราคาไม้พะยูงและการขายไม้พะยูงในกรณีที่ปรากฏเป็นข่าว เป็นการขายโดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยการตกลงราคาในราคา 152,200 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นสองพันสองร้อยบาทถ้วน) ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการประเมินราคากลาง ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 แต่งตั้งขึ้น และดำเนินการขายโดยวิธีดังกล่าวเอง โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ไม่ทราบว่า เอื้อให้แก่บุคคลในบุคคลหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

 

3) กรณีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ปรากฏภาพข่าวหลักฐาน กลุ่มชายฉกรรจ์ ที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ นำสว่านมาเจาะต้นไม้พะยูงในโรงเรียนโคกกลางเหนือ อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 9 ต้น และมีการพูดคุยกับครูว่าจะมีการประมูลไม้พะยูงขาย ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ โดยเชิญเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามทุกคน ได้รับการยืนยันว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

 

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า หากกรมธนารักษ์พบว่าเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นกับการกระทำความผิด กรมธนารักษ์จะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง โดยจะดำเนินการตามกระบวนทางวินัยและทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป