กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่า ควบคู่กับเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน รับมือเอลนีโญ

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่า ควบคู่กับเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน รับมือเอลนีโญ

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่า เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ

วันนี้ (26 ก.ย.66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตาม และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้อง และเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่า ควบคู่กับเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน รับมือเอลนีโญ
 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (26 ก.ย.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 49,496 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 26,886 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 12,588 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 12,283 ล้านลูกบาศก์เมตรในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศไปแล้ว 16 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 5.68 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.71 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 4.82 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลัก(เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และแม่กลอง) ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่า ควบคู่กับเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน รับมือเอลนีโญ
 

ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีมูล มีแนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ได้จัดจราจรน้ำ  เชื่อมโยงกันตั้งแต่ตอนบนของลุ่มน้ำชี โดยใช้เขื่อนระบายน้ำทั้ง 6 แห่ง  ส่วนพื้นที่ตอนกลางได้ยกบานระบายเขื่อนทดน้ำทุกแห่ง ด้านพื้นที่ตอนปลายเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงต่ำกว่าแม่น้ำมูล ทำให้การระบายน้ำยังทำได้ดี  แต่ยังคงเฝ้าระวังติดตามร่องมรสุมที่จะพาดผ่านในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ย. 66 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากในบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่า ควบคู่กับเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน รับมือเอลนีโญ

จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และ 3 มาตรการเพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน
 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์