6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ถกด่วน ปมนักข่าวรับเงิน 'บิ๊กโจ๊ก'
6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ถกด่วน! ปมนักข่าวรับเงิน "บิ๊กโจ๊ก" ด้านสมาคมนักข่าวฯ กระตุก "สติ" สื่อ ยึดหลักจรรยาบรรณ ไม่อ้างเงินเดือนน้อย เรียกรับผลประโยชน์
วันนี้ (27 ก.ย. 66) นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยว่า 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีการประชุมหารือ ถึงประเด็นที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าได้มีการให้เงินกับนักข่าวเวลาไปทำข่าวกับตนเอง โดยให้เงินเป็นค่าข้าว ค่าเดินทาง ครั้งละ 10,000 บาท เพราะนักข่าวมีเงินเดือนน้อย แต่ยืนยันว่าเงินที่ให้ไม่ใช่เงินจากเว็บพนัน
โดยในส่วนของการประชุมหารือวันนี้ จะนำข้อมูลและข่าวที่เกิดขึ้น มาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อกำหนดท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากพบว่ามีข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิด หรือไม่เหมาะสม ก็จะต้องมีการเรียกตัวผู้ที่ถูกเอ่ยชื่อพาดพิงมาชี้แจง ทั้งนี้ฝากคำแนะนำไปถึงนักข่าวที่ถูกพาดพิง หากรู้สึกว่าได้รับความเสียหายจากเรื่องนี้ สามารถแจ้งต้นสังกัดและใช้สิทธิในการดำเนินคดีกับผู้ที่กล่าวพาดพิงได้
พร้อมทั้งขอเรียกร้องไปถึงองค์กรสื่อต้นสังกัดต่างๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะของนักข่าวที่ถูกเอ่ยชื่อถึงว่าควรสอดส่องนักข่าวในสังกัดของตนเองว่ามีพฤติกรรมในการรับเงินจากแหล่งข่าวด้วยหรือไม่ หากพบว่ามี ควรมีมาตรการที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของแต่ละองค์กร เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรปล่อยให้คนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ในองค์กรวิชาชีพของตนเองต่อไป
"วิธีการที่จะได้มาซึ่งข่าวโดยสุจริต เราเข้าไปขอข่าวจากแหล่งข่าว ส่วนเขาจะให้หรือไม่ให้ เป็นสิทธิของเขา แต่เราโทรนัดหรือขอสัมภาษณ์ เพื่อขอข้อมูลข้อเท็จจริงมาประกอบข่าวของเราให้มีความรอบด้าน โดยที่เราไม่ต้องเรียกเงินเรียกทองอะไรเลย เพราะเราต้องการเพียงข่าว นักข่าวเรามีเงินเดือน ที่จะดูแลตนเองและมีสวัสดิการ การรับเงินรับทอง ผมว่า "ไม่ควร" และ "ไม่ควรทำ" อย่างยิ่ง "
"ผมว่ามันไม่ใช่ข้ออ้างว่าเงินเดือนน้อย แล้วจะมาใช้ในการทุจริตต่อวิชาชีพของตนเอง คำว่าเงินเดือนน้อย มันเป็นเรื่องการบริหารส่วนบุคคล ถ้าเงินเดือนน้อยแล้วใช้วิธีการที่ไม่ชอบ ผิดหลักจริยธรรมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร การที่นักข่าวประสบการณ์สูงเป็นสิ่งที่ดี เพราะนักข่าวจะมีความสนิทมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับแหล่งข่าว แต่นักข่าวต้องรักษาความน่าเชื่อถือ ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตนเองไว้ให้ได้ด้วย"
อย่างไรก็ตาม นายจีรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เคยได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักข่าวที่เรียกรับเงินจากแหล่งข่าว แต่ไม่บ่อย เพราะนักข่าวในยุคปัจจุบันรู้ดีว่าหากทำอะไรนอกลู่นอกทาง จะถูกตรวจสอบได้ง่าย โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย มักจะมีการถ่ายคลิปอะไรต่างๆเป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ หากใครที่มีข้อมูล หรือพบเห็นนักข่าวที่มีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์ หรือทำตัวไม่เหมาะสมกับวิชาชีพ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาได้ ผ่านทั้ง 6 องค์กรวิชาชีพ เพื่อจะแจ้งให้ต้นสังกัดรับทราบพฤติกรรม และองค์กรวิชาชีพจะคัดกรองนักข่าวที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ออกไป