'ดาวเทียม THEOS-2' เผยภาพเปรียบเทียบชัดๆ เหตุผลว่าทำไมถึงมีประโยชน์มากๆ
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น 'ดาวเทียม THEOS-2' หลังสามารถขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ พูดถึงเหตุผลที่ว่า "ทำไมต้องมีดาวเทียมที่ถ่ายภาพได้ละเอียดขึ้น" พร้อมเผยภาพเปรียบเทียบชัดๆ
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น 'ดาวเทียม THEOS-2' หลังสามารถขึ้นสู่อวกาศสำเร็จเมื่อวานนี้ (9 ต.ค.2566) เวลา 08.36 น. ตามเวลาประเทศไทย พูดถึงเหตุผลที่ว่า "ทำไมต้องมีดาวเทียมที่ถ่ายภาพได้ละเอียดขึ้น"
ดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรเรียบร้อย ดาวเทียมถ่ายภาพละเอียดขึ้นแล้วดีอย่างไร?
หากติดตามดาวเทียมดวงใหม่ของไทย จะเห็นข่าวต่างๆพูดถึงภาพถ่ายรายละเอียดสูงระดับ 50 เซนติเมตร การอธิบายด้วยภาพคงง่ายกว่าตัวอักษร จึงนำภาพเปรียบเทียบมาให้ดู (ภาพตัวอย่างไม่ใช่จาก ดาวเทียม THEOS-2 คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะได้ข้อมูลเอามาใช้)
สำหรับสองภาพดังกล่าว คือเกาะสาก ภาพบนคือรายละเอียดต่ำ หากมองเผินๆอาจไม่เห็นอะไร แต่ถ้าเพ่งสักนิดจะเห็นอ่าวตอนใต้มีอะไรแปลกๆ ลองดูให้ดีตรงจุดที่มีเรือจอด 3-4 ลำ ทำไมแนวปะการังเป็นอย่างนั้น มันดูไม่เป็นธรรมชาติ
คราวนี้ลองดูภาพรายละเอียดสูงมาเทียบ เราจะเห็นเลยว่าปะการังถูกจัดเรียงไว้เพื่อกิจกรรมซีวอล์คเกอร์ คราวนี้ลองคิดตาม หากเรามีแต่ภาพรายละเอียดต่ำเราก็ได้แต่สงสัย จะลองไปสำรวจดู เอาภาพไปให้บอสเพื่อขอเงิน บอสคงแสยะยิ้ม คิดว่าเรามีตังค์เหลือใช้
แต่ถ้ามีภาพรายละเอียดสูงเหมือนภาพล่าง แค่เห็นบอสก็คงตาเหลือก รีบๆไปดูเลย ขาดยังไงงบกลางยังเหลือ เบิกไปใช้ได้ นั่นคือความต่างของสองภาพ และคือความหมายว่าทำไม THEOS-2 จึงจะมีประโยชน์หนักหนาในการสำรวจตรวจตราทั้งทะเลทั้งป่าและอื่นๆอีกมาก หลังจากนั้น ภาพรายละเอียดสูงยังมีประโยชน์ในการจัดการปรับพื้นที่ ฟื้นฟู บริหารจัดการ ใช้ร่วมกับการสำรวจภาคสนาม สำรวจโดยใช้โดรน ดำน้ำดู ฯลฯ
ปัจจุบัน เรามีกรรมการของจังหวัดชลบุรีร่วมกับกรมทะเล เพื่อบริหารจัดการซีวอล์คเกอร์ พื้นที่นี้เท่าที่เช็กล่าสุด ไม่มีใครมาทำแล้ว ในอนาคตอาจหาทางฟื้นฟูให้ดูดีกว่าเดิม ซึ่งหากใช้ THEOS-2 มันก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ เพื่อบอกว่า สมัยก่อนกว่าจะหาปัญหาในแนวปะการังแต่ละแห่งเจอ มันไม่ใช่ง่ายๆ แนวปะการังหลายพันแห่งอยู่ตามเกาะใหญ่น้อยเกือบพัน จะให้ไปสำรวจดูตลอด เอาแค่ทำทุกปียังทำไม่ได้
ปัจจุบันรอบการสำรวจปะการังของเราใช้เวลา 4-6 ปี แต่เมื่อเรามี THEOS-2 เราจะได้ข้อมูลละเอียดพอในทุกเดือน (รอบโคจร 26 วัน) ยังถ่ายภาพมุมเอียงในเวลาถี่กว่านั้นได้ด้วย
การตรวจตราเหตุผิดปกติจะทำได้ง่ายขึ้นมาก ประหยัดขึ้นมาก และทันท่วงทีขึ้นมาก นั่นเป็นเฉพาะปะการัง ลองคิดถึงป่าเลน แหล่งหญ้าทะเล หาดทราย ฯลฯ นั่นเป็นเฉพาะทะเล ลองคิดถึงป่าเขา คิดถึงแม่น้ำลำคลอง การเกษตร ปศุสัตว์ การท่องเที่ยว ภัยพิบัติ เมือง ชุมชน ฯลฯ ไทยเป็นประเทศเล็กๆที่มีหลายอย่างมารวมกัน มีทรัพยากร มีมนุษย์ มีการทำมาหากิน มีผลกระทบ ประเทศเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูง และเราโหยหามานานแสนนาน จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ THEOS-2 ขึ้นไปแล้วและจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการจัดการทรัพยากรของประเทศไทยจึงไม่ใช่แค่ปล่อยดาวเทียมขึ้นไปเพื่อความเท่
ที่มา : เฟซบุ๊ก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์