“จริยธรรม” คืออะไร คำที่ต้องทำความเข้าใจ
หากจะถามว่า “จริยธรรม” คืออะไร? คำตอบกว้างๆ คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความคิดและความประพฤติที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ระดับความเหมาะสมทางจริยธรรมของแต่ละคนแตกต่างกันได้
แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน เช่น การขับรถเบียดแซงคิวรถคันอื่นที่ต่อแถวอยู่ คนหนึ่งอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องเหมาะสมยอมรับได้ อีกคนก็มีสิทธิ์ค้านหัวชนฝาว่าเรื่องแบบนี้ไม่เหมาะไม่ควร ยอมไม่ได้เด็ดขาด
ด้วยเหตุนี้ การเอาหลักจริยธรรมของคนสองคนมาโต้เถียงกันจึงไม่มีทางได้ข้อยุติเพราะสองคนพูดกันคนละเรื่อง เพราะมองกันคนละมุม นับประสาอะไรกับประเทศไทยที่มีคนกว่า 66 ล้านคน
ถึงแม้มาตรฐานทางจริยธรรมโดยรวมอาจแตกต่างกัน แต่คนส่วนใหญ่มีมาตรฐานขั้นต่ำในเรื่องพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน เช่น ไม่ทำร้ายหรือฆ่าคนอื่น ไม่ขโมยของ เป็นต้น แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน ความเห็นยังอาจแตกต่างกันได้
ลองนึกดูว่าถ้าคนที่เรารักได้รับอุบัติเหตุอยู่ห้องฉุกเฉิน หมอบอกว่าต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึงจะรักษาชีวิตไว้ได้ แต่ต้องหมดสติแบบนี้ตลอดไป จึงเสนอให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ เขาจะได้ไปสู่สุขคติ เลยมาขอให้เราลงชื่อยินยอมให้ปิดเครื่องช่วยหายใจ บางคนอาจจะยอมเซ็น บางคนคงไม่ยอม
เช่นเดียวกัน คนที่เติบโตมาในครอบครัวซึ่งใช้ความรุนแรง จะเห็นว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เด็กที่โตมาในครอบครัวที่โกงกินมาตลอด ย่อมเห็นว่าการโกงเป็นเรื่องธรรมดาของโลก
เมื่อหลายปีก่อนที่ออสเตรเลีย มีข่าวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งยอมเสี่ยงชีวิตลงไปช่วยเพื่อนที่กำลังโดนฉลามทำร้าย จนได้รับการยกย่องไปทั่ว เพราะเขามีสิทธิ์จะวิ่งหนีก็ได้แต่ก็ไม่ทำ
ในทำนองเดียวกับ การโกหกเพื่อช่วยชีวิตคนบริสุทธิ์ ถึงเป็นการโกหกหน้าด้านๆ เมื่อถูกเปิดเผยในภายหลังก็คงไม่โดนวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เหมือนกับการโกหกเพื่อเอาตัวรอดจากความผิดที่ทำลงไป หรือการโกหกเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์มากกว่าเดิม
นอกจากนี้แล้ว การคาดหวังว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของคนทุกคนจะคงเส้นคงวาในทุกสถานการณ์ อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน มีภาษิตจีนเกี่ยวกับผู้นำบทหนึ่งกล่าวว่า “พึงเข้มงวดกับตนเอง ผ่อนปรนกับผู้อื่น” หากเราเอาภาษิตนี้มาเป็นบรรทัดฐานแล้ว คนที่อ่อนจริยธรรมที่สุดก็น่าจะเป็นคนประเภท “เข้มงวดกับเขาไปทั่ว แต่พอเรื่องของตัวยังไงก็ได้”
บางคนคิดถึงขนาดว่า ทำอะไรก็ได้ขอให้ไม่ผิดกฎหมาย หรือถึงผิดแต่ถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็ถือว่ายอมรับได้ เรื่องจริยธรรมไม่ต้องไปสนใจ
ความจริงแล้ว กฎหมายบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้คนในสังคมอยู่กันอย่าง “สงบ” แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าคนในสังคมจะมี “ความสุข” เสมอไป
กฎหมายเปรียบเหมือนมาตรฐานขั้นต่ำซึ่งทุกคนจะต้องทำตาม ส่วนจริยธรรมในส่วนที่นอกเหนือจากข้อกำหนดในกฎหมายจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนว่ามีมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม จริยธรรมเป็นเหมือนพันธนาการผูกมัดไม่ให้เรามีอิสระทำตามใจอยาก ด้วยเหตุนี้ คนจะมีจริยธรรมสูงได้จึงต้องรู้จักควบคุมจิตใจของตนเอง มีวุฒิภาวะทางจิตใจและอารมณ์ในระดับหนึ่ง
ในทางกลับกัน คนที่เอาแต่ยึดหลักกฎหมาย ทั้งที่บางครั้งขัดกับสามัญสำนึกผิดชอบชั่วดี ก็เหมือนกับเป็นการประกาศจุดยืนของตนให้คนอื่นรู้ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ตนเองมีจริยธรรมเท่ากับจริยธรรมขั้นต่ำในสังคมเท่านั้น
หากมองจากมุมมองของปัจเจกบุคคลแล้ว ทุกคนมีสิทธิจะเลือกได้อย่างอิสระ ดังนั้น การยึดเอาจริยธรรมขั้นต่ำมาเป็นบรรทัดฐานการใช้ชีวิตจึงไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับคนธรรมดา
สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ ฐานะทางสังคมคือสิ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเราและคนอื่นในสังคม ความคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนคนหนึ่งขึ้นอยู่กับฐานะของคนผู้นั้นและวิธีการที่ได้ฐานะนั้นมา
ความคาดหวังจากผู้ได้รับเลือกเป็นนางงามจักรวาลคือ ต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง ไม่ประพฤติตัวเสเพล กินเหล้าเมายาหัวราน้ำ รู้จักแต่งตัวเหมาะสมกับกาลเทศ มีกริยาท่าทางนุ่มนวล รู้จักเก็บความรู้สึก ถึงแม้จะไม่พอใจก็จะไม่แสดงออกด้วยการยืนท้าวสะเอวชี้นิ้วกราดด่าเขาไปทั่ว
สำหรับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่โต หรือเป็นผู้ที่สามารถชี้นำความคิดของสังคมได้ หน้าที่ของผู้นำทางความคิดทั้งหลาย คือ การทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อยกระดับจริยธรรมของสังคมสูงขึ้น อย่างน้อยก็จนถึงจุดที่ทุกคนมีมาตรฐานขั้นต่ำใกล้เคียงกัน และเป็นมาตรฐานที่เข้มข้นมากพอที่จะเป็นกลไกอย่างไม่เป็นทางการในการสร้างความผาสุกให้กับสังคม
โดยเฉพาะคนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน ถ้าแบบนี้ทำไม่ได้ ก็ไม่ควรจะเรียกตัวเองว่าเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน.