ชวนชมปรากฏการณ์ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 3 พ.ย.นี้
NARIT ชวนคนไทยส่องปรากฏการณ์ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร 3 พฤศจิกายน 2566
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (สดร.) เปิดเผยผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า 3 พฤศจิกายนนี้ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชวนคนไทยส่อง ดาวพฤหัสบดี ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ หอดูดาวทั้ง 5 แห่งของ NARIT ที่เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และขอนแก่น ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ดาวพฤหัสบดี จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร
ในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดี จะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า นานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตเห็น ดวงจันทร์กาลิเลียน ทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด คัลลิสโต รวมถึง แถบเมฆ ที่สวยงามของดาวพฤหัสบดี และหากใช้กำลังขยาย 100 เท่าขึ้นไป จะสามารถเห็น จุดแดงใหญ่ พายุหมุนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 1.3 เท่า ได้อย่างชัดเจน
จุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง ได้แก่
- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น
หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ตั้งแต่เวลา 19:00 น. เป็นต้นไป
NARIT เตรียมจัดกิจกรรม "เปิดเทศกาลชมดาว รับลมหนาว ในคืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลก" คืนวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ประเดิมอีเวนต์แรกของฤดูกาลดูดาวหน้าหนาว ชวนส่องดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว จนถึงขนาดใหญ่ 0.7 เมตร
พาเหรดกิจกรรมดูดาว เทศกาลชมดาว รับลมหนาว 2566-2567 มีดังนี้
1. ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18:00-22:00 น.
2. ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 - เช้า 15 ธันวาคม 2566 เริ่มชมปรากฏการณ์ได้เวลา 20:00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า อัตราการตกสูงสุดประมาณ 120-150 ดวง/ชั่วโมง
3. Starry Night over Bangkok ดูดาวกลางกรุง วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 เวลา 18:00-22:00 น. ณ สวนเบญจกิตติ กรุงเทพมหานคร
4. NARIT Night at the Museum 2023 วันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 เวลา 18:00-22:00 น. เปิดนิทรรศการ ท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษยามค่ำคืน และกิจกรรมดูดาว
5. TNO Open House : เปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ ชวนร่วมสัมผัสเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชมดาวเคราะห์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร
6. NARIT AstroFest 2024 มหกรรมดาราศาสตร์ วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 09:00-22:00 น.
7. Stargazing Night วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 18:00-22:00 น. ครั้งแรกที่คนไทยจะเงยหน้ามองฟ้า ดูดาวพร้อมกันทั่วประเทศ
8. Dark Sky Star Party มหกรรมท่องเที่ยวดูดาว วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:00-22:00 น. ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ. อุบลราชธานี
9. NARIT Public Night : ดูดาวทุกคืนวันเสาร์ กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน ชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกหลายชนิด พร้อมแนะนำการดูดาวเบื้องต้น ทุกคืนวันเสาร์ เวลา 18:00-22:00 น. ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
ภาพและข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)