สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 66
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 66 น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 66 โดยสภาพอากาศวันนี้ ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
คาดการณ์ ในช่วง 2–6 พ.ย. 66 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นมีกำลังอ่อนลง ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 31 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 5,153 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
- ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,213 ล้าน ลบ.ม. (77%)
- ปริมาณน้ำใช้การ 39,045 ล้าน ลบ.ม. (67%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 10 แห่ง
- ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก และบึงบอระเพ็ด
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หนองหาร อุบลรัตน์ และลำปาว
- ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
- ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง
- ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
- ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ตาก และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา ภาคใต้ จ.สงขลา และนราธิวาส
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สถานการณ์อุทกภัย
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 จังหวัด (กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี) รวม 12 อำเภอ 62 ตำบล 107 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 413 ครัวเรือน ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมกลุ่มประเทศผู้ใช้น้ำ ลุ่มน้ำล้านช้าง-ลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ เร่งวางแผนใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ ช่วยเหลือชาวนารับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ป้องกันความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกข้าวจากน้ำท่วม-ภัยแล้ง
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 66 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าพลังน้ำแห่งประเทศจีน, สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชางเจียง มหาวิทยาลัยด้านเศรษฐศาสตร์หูเป่ย ประเทศจีน, มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว, คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว และกองทุนพิเศษด้านความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง ได้จัดการประชุมระหว่างภาคส่วน 6 ประเทศ ในกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ
ด้านสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำในนาข้าว โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และตัวแทนจากกลุ่มประเทศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ประกอบไปด้วย จีน, สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมา และเวียดนามเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมโรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยท์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา การประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มาแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมอัจฉริยะที่ได้ทดสอบและมีการพิสูจน์ใช้จริงในนาข้าว ตลอดทั้งมีการประชุมหารือกับผู้แทนฝ่ายนโยบายเพื่อหาแนวทางส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะในพื้นที่ต่างๆ ไปขยายผลในอนาคต รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคให้มีการพัฒนาศักยภาพของชาวนาในการปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้ดีขึ้นด้วย
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมรถยนต์ตรวจการณ์ เข้าสำรวจและประเมินความเสียหายจากเหตุอุทกภัย ซึ่งเกิดจากมวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำโป่งจ้อไหลบ่าพัดเส้นทางสัญจรขาด ณ บ.ทุ่งโป่ง ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือต่อไป