“บัญชีม้า” สารตั้งต้นแห่งวงจร “มิจฉาชีพ”
ปัจจุบันการกระทำความผิดนั้นไม่ได้มาเพียงแค่รูปแบบ “ความผิดต่อร่างกาย” “ความผิดต่อชีวิต” หรือ “ความผิดต่อทรัพย์สิน” อันแสดงออกมาโดยพฤติกรรมที่ผู้กระทำความผิดกระทำโดยตรง
แต่ขยายไปถึงการกระทำบางอย่างบนโลกออนไลน์ ผ่านช่องทางที่พัฒนาไปตามเทคโนโลยี
ทั้งนี้ แม้ว่ากฎหมายจะพยายามปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเท่าทันมากขึ้น โดยบังคับใช้ให้เกิดความเข้มงวดในการใช่สื่อออนไลน์ผ่าน “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และปรับปรุงปี พ.ศ. 2560”
แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ประเด็นคือ อาชญากรรมอันเป็นปัญหาแท้จริงที่สังคมกำลังเผชิญอยู่คืออะไร?
“สาวกเคป๊อปถูกหลอกโอนเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตนักร้องดัง” หรือ “นักท่องเที่ยวจองทริปโรงแรมดังภูเก็ตล่วงหน้าแต่กลับไม่ได้ห้องพักเพราะจองผ่านเพจปลอม” และ “ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แต่กลับได้ของไม่ตรงปก”
ทั้งหมดเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ผู้เสียหายคือประชาชนโดยทั่วไป แต่จากความผิดเหล่านี้ยังขยายไปถึงความเสียหายที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจระดับประเทศผ่านการฟอกเงินโดยใช้ช่องทางประเภทเดียวกัน เช่น “การพนันออนไลน์” ช่องทางที่กล่าวมาคือ “บัญชีม้า”
บัญชีม้า คือ “บัญชีที่ผู้เป็นเจ้าของบัญชีไม่ใช่ผู้ใช้บัญชีเพื่อประโยชน์ของตนแต่ถูกนำไปใช้เป็นช่องทางการรับและโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด”
การเปิดบัญชีม้าดังกล่าวนั้นมีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ 3 ประการ ดังนี้
1. “ถูกหลอก” หรือ “บีบบังคับ” ให้เปิด : วิธีการนี้ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มมิจฉาชีพจะเลือกรูปแบบใด กล่าวคือ หากเป็นการ “ถูกหลอก” ก็จะใช้วิธีการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่สูงอายุหรือไม่เท่าทันเทคโนโลยีซึ่งจะอยู่ตามต่างจังหวัดโดยเอาสิ่งของมาดึงดูดใจเพื่อให้เปิดบัญชี เช่น เปิดแล้วได้ผ้านวม กระติกน้ำร้อน ฯลฯ
ต่างจากการ “บีบบังคับ” ที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้นอกระบบ เนื่องจากสามารถถูกข่มขู่ให้เปิดบัญชีผ่านการอ้างการผิดนัดชำระดอกเบี้ยรายวันได้โดยง่าย
2. ขายข้อมูลผู้ใช้บริการ : วิธีการนี้ผู้ถูกขายข้อมูลอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองได้เปิดบัญชีม้าขึ้นมา เนื่องจากผู้ถือข้อมูลดังกล่าวนำข้อมูลไปขายต่อให้มิจฉาชีพเพื่อนำไปเปิดบัญชีม้า
ซึ่งการได้ข้อมูลดังกล่าวนั้นส่วนใหญ่มาจาก การลงทะเบียนรับกิฟท์การ์ด หรือลงทะเบียนเพื่อเป็นสมาชิกของร้านค้าแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง และสำคัญที่สุด คือ การลงทะเบียนเล่นการพนันออนไลน์
3. รับจ้างเปิดบัญชีม้า : วิธีการนี้แตกต่างจากสองวิธีข้างต้นเนื่องจากผู้เป็นเจ้าของบัญชีได้ทำการเปิดบัญชีม้าด้วยตนเองแลกกับค่าตอบแทนในการเปิด โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่ใช่ผู้ใช้บัญชีนั้นเอง
ในกรณีนี้อาจจะมีการรับซื้อโดยการติดต่อเป็นรายบุคคล หรือกระทำการผ่านทางแม่ข่ายรับซื้อรายกลุ่ม โดยจะให้ค่าตอบแทน 300 – 1000 บาทต่อบัญชี
ทั้งนี้ มิจฉาชีพก็จะนำบัญชีม้าดังกล่าวไปใช้เพื่อหาผลประโยชน์จากการกระทำผิดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการให้โอนเงินชำระค่าสินค้าออนไลน์ ชำระค่าบริการล่วงหน้า โดยไม่ประสงค์จะทำตามที่ผู้เสียหายได้โอนเงินมา
และด้วยเหตุที่ “บัญชีม้า” ดังกล่าวจะทำให้เจ้าพนักงานติดตามจับกุมได้ยากแล้วเนื่องจากการใช้ช่องทางออนไลน์ที่ไม่ระบุตัวตนแน่ชัด การกระทำอันเป็นความผิด “ฐานฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 341 – 343
มากไปกว่านั้นยังไม่สามารถดำเนินคดีไปถึงตัว “มิจฉาชีพ” ที่แท้จริงได้ด้วยเหตุที่เมื่อติดตามไปยังเจ้าของบัญชีที่กระทำความผิดกลับได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่า “ไม่เคยรู้เหตุแห่งการรับหรือโอนเงิน” เพราะบัญชีดังกล่าวได้ถูกมิจฉาชีพนำไปใช้เสียแล้ว
จึงได้เพียงแค่ดำเนินคดีกับ “ม้า” คนหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น (หากมีการหลอกให้เปิดบัญชีซิมมือถือเพื่อยืนยันการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อีกทอดหนึ่ง)
ทำให้คดีที่ “ม้า” ต้องรับผิด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการยอมความตามกฎหมายแลกกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเท่านั้น
แม้จะมีระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทก็ตาม เพราะสุดท้ายก็ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดที่กฎหมายต้องการลงโทษ จึงสเมือนช่องทางที่ “มิจฉาชีพ” ใช้เป็นสารตั้งต้นของการปกปิดความผิดประเภทอื่นๆอีกมากมาย
ด้วยผลกระทบวงกว้างผ่านความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจนี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาจึงมีการประกาศใช้ “พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566” ออกมาบังคับใช้โดยเร่งด่วน
ด้วยมุ่งขยายผลไปยัง “ผู้ที่เป็นธุระจัดหา” ผ่านการ ซื้อ ขาย โดยการโฆษณา ให้ต้องรับโทษหนักขึ้น จากเดิมเป็นเพียงแค่ตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุน ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนที่ไม่มีโทษจำคุกขั้นต่ำและยอมความได้ มาเป็นโทษที่ไม่สามารถยอมความได้และมีโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี ปรับสูงถึงสองแสนถึงห้าแสนบาท
ทั้งนี้ได้ขยายนิยามความรับผิดไปถึง “ผู้ประกอบธุรกิจ” และ “สถาบันการเงิน” ที่อาจเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้อมูลเพื่อนำไปเปิดบัญชีม้า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 3, 9, 10, 11 และ 12 แห่ง พ.ร.ก. ข้างต้น รวมถึงการกำหนดแนวปฏิบัติที่ให้พนักงานสอบสวนสามารถรับเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์และเริ่มต้นดำเนินคดีได้ทุกท้องที่
โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยเขตอำนาจในการสอบสวนแห่งท้องที่ที่ความผิดได้เกิด ด้วยประสงค์จะเร่งการดำเนินคดีและขยายผลความผิดไปถึง “กลุ่มมิจฉาชีพ” ที่อยู่เบื้องหลังแห่งการกระทำความผิดอันใช้บัญชีม้ามาบังหน้า
โดยมี “พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟ้องเงิน พ.ศ.2542” เป็นเครื่องมือช่วยดำเนินการผ่านองค์กรพิเศษ “สำนักงาน ป.ป.ง.” ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบเส้นทางทางการเงินของบัญชีม้าดังกล่าวนั้นว่าเป็น “ความผิดมูลฐาน” ที่ต้องขยายผลไปถึงผู้ที่ได้ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือไม่ โดยไม่สนใจว่าประโยชน์ที่ได้รับมานั้น ได้มาโดยทางตรง หรือทางอ้อม” ก็ตาม
สุดท้ายนี้สิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากไปถึง “ผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า” คือ “การสมัครใจรับเงินเพียงหลักร้อยหรือหลักพัน ย่อมไม่คุ้มกับการต้องถูกดำเนินคดีอาญาที่มีโทษรุนแรง และต้องเสียโอกาสในทางหน้าที่การงานในอนาคตด้วยเหตุแห่งการมีประวัติอาชญากรรมติดตัว”
โดนทั้งโทษ เสียทั้งค่าปรับหลักแสน แถมเสี่ยงถูกตัดสิทธิ์การเข้ารับราชการ หากยังไม่ไตร่ตรองดี ๆ ก็คงไม่มีทางออกอื่นนอกจากรับผลตามที่ผมได้กล่าวมา.