สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 พ.ย. 66
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 พ.ย. 66 ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,070 ล้าน ลบ.ม. (78%) น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 พ.ย. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น มีกำลังอ่อนลงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้ามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
คาดการณ์ วันที่ 21–25 พ.ย. 66 มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงยังคงปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีอากาศเย็นถึงหนาวและมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลงทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 19 พ.ย. 66 น้อยกว่า ปี 65 จำนวน 3,891 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
- ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,070 ล้าน ลบ.ม. (78%)
- ปริมาณน้ำใช้การ 39,901 ล้าน ลบ.ม. (69%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 11 แห่ง
- ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดนและบึงบอระเพ็ด
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว
- ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์
- ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล และหนองปลาไหล
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมต่ำสุด 4 แห่ง
- ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
- ภาคกลาง : กระเสียว
- ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคใต้ จ.ตรัง และนครศรีธรรมราช
สถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวม 19 อำเภอ 95 ตำบล 444 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,199 ครัวเรือน
มาตรการและการช่วยเหลือ
กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล ขนาด 24 นิ้ว และขนาด 8 นิ้ว เพื่อช่วยเหลืออุทกภัยบริเวณ ตำบลคลองน้อยอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมในการดำเนินงานโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บ้านคลองสาลี ตำบลลาดยาว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
แนวทางการบริหารจัดการน้ำ
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นการศึกษาการบรรเทาอุทกภัย บ้านปูยุด ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยมีผู้แทนจากกรมชลประทานเป็นผู้บรรยาย สร้างความเข้าใจเพื่อรับทราบ เกี่ยวกับโครงการศึกษาความเหมาะสม การบรรเทา อุทกภัย พื้นที่บ้านปูยุด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A ที่จะต้องมีการ ทำการศึกษาความเหมาะสมเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ได้มีการทำประชาคมชาวบ้าน เมื่อวันที่ 2 และ10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อนำข้อคิดเห็นมาเสนอในวันดังกล่าว โดยทางตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น และมีข้อสรุป คือเห็นชอบ การเจาะอุโมงค์ผันน้ำ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอุทกภัยบ้านปูยุดในระยะยาว และเสนอขอให้มีการสร้างตะแกรงกัน ขยะมูลฝอยเพื่อเป็นการบรรเทาอุทกภัย ในระหว่างรอการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน